เว็บไซต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร ร่วมรำลึกวันคล้าย
วันถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร ปีที่ ๕๘
ด้วยภาพประวัติศาสตร์งานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
ด้วยภาพจากเว็บไซต์ www.luangta.com และความอนุเคราะห์จาก
ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (พระอาจารย์มหาพรหมา จตฺตภโย)
วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร




บันทึกงานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร

จากบันทึกบรรยากาศงานบำเพ็ญกุศลและถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร โดยครูบาอาจารย์ที่เป็นศิษยานุศิษย์ในองค์หลวงปู่มั่น ที่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ได้บันทึกบรรยากาศงานประวัติศาสตร์แห่งพระบูรพาจารย์กรรมฐานไว้มีรายละเอียดดังนี้

ภายหลังจากที่องค์หลวงปู่มั่น ได้มรณภาพในคืนวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลาประมาณตีสอง จากบันทึกของหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ใน ชีวประวัติ พระหล้า เขมปตฺโต พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ หน้าที่ ๑๙๔ – ๑๙๕ ได้บันทึกเกี่ยวกับการจัดการศพหลวงปู่มั่น ภายหลังจากที่ท่านมรณภาพไว้ดังนี้

“… ต่อไปเรื่องศพขององค์หลวงปู่ ครั้นถึงเวลาเย็นในวันนั้น ก็กราบศพเอาเข้าหีบไม้ที่เห็นว่าเป็นหีบชั้นที่หนึ่งในสมัยนั้น แล้วก็เอาไว้ที่ศาลาโรงฉัน แล้วสามทุ่มตอนกลางคืนมีการสวดมนต์ ธรรมจักรบ้าง อนัตตลักขณสูตรบ้าง อาทิตตปริยายสูตรบ้าง ธรรมนิยามบ้าง อภิธรรมบ้าง วนไปวนมาและมีการฟังเทศน์ทั้งโยมทั้งพระรวมกันตอนกลางคืนด้วยทุกคืน ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นประธานแต่งพระเถระทั้งหลายเปลี่ยนวาระกันเทศน์เข้าคิว สมัยนั้นพระอาจารย์มหา(๑) ยังมิได้เข้าคิวเทศน์ดอก องค์ท่านกำลังเร่งความเพียร ออกไปวิเวกองค์เดียว ๗ วัน จึงเข้ามาเยือนหนหนึ่งเป็นระยะ ๆ

พระมาต่างทิศบางวันถึง ๘๐๐ ก็มี บางวัน ๔๐๐ ขึ้นไป ๕๐๐ ๖๐๐ ๗๐๐ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ตลอด ๓ เดือนการขบฉันก็เหลือแหล่ ไม่มีโจรผู้ร้ายพอที่จะว่าเดือดร้อน ๗ วันที่เรียกว่าสัตตมวารในสมัยนั้นทำบุญครั้งหนึ่ง แต่ก็เท่ากับว่าทำทุกวันอยู่ในตัวเพราะพระมาก ถ้าคิดเฉลี่ยแล้วเอา ๖๐๐ มาคูณ ๙๐ แล้วจะเป็นพระกี่องค์เล่า ก็เป็นพระ ๕๔ , ๐๐๐ องค์ทีเดียวล่ะ พระมหาเถระ พระราชาคณะทางกรุงเทพมหานครก็มาหลายองค์อยู่ สมัยนั้นวัดป่าสุทธาวาสเป็นวัดกว้างขวางวังเวงเพราะยังไม่มีสวน ไม่มีบ้านท่านผู้ใด เป็นดงบ้าง เป็นป่าบ้าง กางกลดกางมุ้งอยู่ไหน ๆ ก็ได้ไม่คับแคบ ให้เข้าใจว่าองค์หลวงปู่มั่นสิ้นลมปราณล่วงไป ๓๐ ปีกว่าเท่านั้น(๒) บ้านเมืองงอกมาหาวัดจนกลายเป็นวัดในเมืองไปแล้ว …”

จากบันทึกของ ท่านเจ้าคุณพระเทพเจติยาจารย์ (หลวงปู่วิริยังค์ สิรินฺธโร) ใน ประวัติพระอาจารย์มั่นฉบับสมบูรณ์ และใต้สามัญสำนึก พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ หน้าที่ ๓๐๙ – ๓๑๑ ได้กล่าวถึงวันประวัติศาสตร์ไว้ดังนี้

“ ณ วันนี้ที่จะต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ คือวันเคลื่อนศพจากศาลาสู่เมรุที่จัดไว้อย่างธรรมดาไม่หรูหราและไม่เลวนัก ประชาชนทั่วไปได้ฟังประกาศว่า บัดนี้จะได้เคลื่อนศพแล้ว ซึ่งเวลานั้นเป็นเวลา ๑๑.๐๐ น. บรรดาพระภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา ทั้งในบริเวณนอกบริเวณวัดต่างก็รีบเดินเข้ามาดุจนัดหมายกันเอาไว้ พรึบเดียวเท่านั้นแน่นขนัดไปทั่วบริเวณ บรรยากาศในขณะนี้เป็นบรรยากาศเศร้าสลด หมายถึงว่าทุกคนในขณะศพกำลังถูกยกเคลื่อนที่จากที่ตั้งบนศาลากำลังเคลื่อนลงมาอย่างช้าๆ ขณะนั้นนั่นเองน้ำตาของทุกคนจากดวงตาหลายหมื่นดวงได้ร่วงพรูลงพร้อมกันเหมือนกับนัด พร้อมทั้งผู้เขียนที่ยืนเคารพศพอยู่ข้างๆ นั้น ผู้เขียนได้มองไปทั่วบริเวณเห็นน้ำตาอันบริสุทธิ์หลั่งไหลจากดวงตาของคนทุกเพศทุกวัยนี้ นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในหลายสิ่งที่บอกเหตุแห่งความเลื่อมใสศรัทธาต่อองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ผู้เขียนรู้สึกใจหายว๊าบๆ เป็นครั้งๆ ทุกคนที่ยืนอยู่กันอย่างสงบดุจตุ๊กตาไม่มีการเคลื่อนไหว ร่างกายเงียบกริบไม่มีแม้กระทั้งเสียงไอ และจามเป็นการหยุดเหมือนถูกสะกด ในขณะที่ศพกำลังถูกเคลื่อนออกจากศาลาไปสู่เมรุอย่างช้าๆ

ขณะนั้นเหลือเวลาอีก ๓ วันที่จะถึงวันประชุมเพลิง บรรดาพระภิกษุสามเณร ประชาชนทั้งทางไกลและใกล้ต่างได้สละเวลาอันมีค่าของตนมาพร้อมกันแล้ว ณ ที่วัดสุทธาวาสเป็นจำนวนมาก บรรยากาศในขณะนั้นมีการบำเพ็ญกุศลทอดผ้าบังสุกุลตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้เขียนได้สังเกตดูเป็นผ้าที่ชาวบ้านทอกันเองเป็นส่วนมาก ญาติโยมก็หานิมนต์พระภิกษุสามเณรที่มาในงานรับผ้าบังสุกุลดูก็เป็นธรรมชาติดีเหลือเกินเพราะไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร ใครมาเมื่อไรก็ได้ บังสุกุลเมื่อไรก็ได้ พระภิกษุสามเณรมารับเมื่อไรก็ได้ผู้เขียนก็ถูกนิมนต์ให้รับก็หลายครั้ง รู้สึกว่าทุกคนที่บำเพ็ญกุศลไม่มีการหวงห้ามหรือปิดกั้นขั้นเวลาต่างๆ ญาติโยมได้หลั่งไหลเข้ามาสู่เมรุ เพื่อทอดผ้าบังสุกุลไม่ขาดสายตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน บรรยากาศอย่างนี้คงหาดูได้ยากแม้จะมีการประชุมเพลิงพระอาจารย์องค์ใดๆ ก็คงไม่เหมือนงานศพของพระอาจารย์มั่นฯ เพราะเป็นศรัทธาในตัวของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่มีต่อท่านพระอาจารย์มั่นฯ อย่างเปี่ยมล้นด้วยกัน ฉะนั้นเมื่อมีการบำเพ็ญกุศลใดๆ โดยเฉพาะงานประชุมเพลิงเป็นงานขั้นสุดท้ายแล้ว ทุกคนจึงแสดงออกแห่งศรัทธาอันยิ่งยวดในใจออกมาเป็นภาพที่มีความดื่มด่ำ พลังแห่งความนึกคิดเป็นปรากฏการณ์ออกมาให้ทุกคนได้ทึ่งและอัศจรรย์ ดังนั้นพลังศรัทธาจึงเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ และสามารถนำไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในทุกๆ กรณ

เวลา ๑๗ นาฬิกาของวันเผา คือรวมกันวางดอกไม้จันทน์ หรือเรียกว่าเผาหลอก ประชาชนแน่นขนัดในบริเวณวัดเนื้อที่ ๕๐ ไร่ แม้เขาเหล่านั้นจะวางดอกไม้จันทน์กันแล้วทุกคนไม่กลับ รอคอยประชุมเพลิงจริง (เผาจริง) ดังนั้นถึงคราวเผาจริงคนจึงยิ่งมาเพิ่มขึ้นในเวลา ๒๒.๐๐ น. ”

จากบันทึกของท่านเจ้าคุณพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงปู่พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ได้บันทึกไว้ใน ประวัติท่านพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตตเถระ ในส่วนที่เกี่ยวกับบรรยากาศตอนถวายเพลิงศพจริง ดังนี้

“ พอถึงเวลาถวายเพลิงท่านจริง ขณะนั้นปรากฏมีเมฆก้อนหนึ่งขนาดย่อม ๆ ไหลผ่านเข้ามาและโปรยละอองฝนลงมาเพียงเบา ๆ พร้อมกับขณะที่ไฟเริ่มแสดงเปลวและโปรยอยู่ประมาณ ๑๕ นาที เมฆก็ค่อย ๆ จางหายไปในท่ามกลางแห่งความสว่างแห่งแสงพระจันทร์ข้างขึ้น จึงเป็นที่น่าประหลาดและอัศจรรย์ อย่างสุดจะคาดจะเดาได้ถูก ว่าทำไมจึงดลบันดาลให้เห็นเป็นความแปลกหูแปลกตาขึ้นมาในท่ามกลางแห่งความสว่างแห่งแสงเดือนเช่นนั้น เพราะปกติฟ้าก็แจ้งขาวดาวสว่างในฤดูแล้งธรรมดาเราดี ๆ นี่เอง แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ มีเมฆลอยมาและมีละอองฝนโปรยปรายลงมา ทำให้แปลกตาสะดุดใจระลึกไว้ไม่ลืมจนบัดนี้ เหตุการณ์ทั้งนี้บรรดาท่านที่อยู่ในวงงานขณะนั้น ไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่าไม่จริง เรื่องมิได้เป็นไปในทำนองนั้น เป็นแต่ผู้เขียนอุตริขึ้นมาเอง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้เขียนประสบมาเองอย่างประจักษ์ตาและสะดุดใจตลอดมา พอท่านที่อยู่ในวงงานขณะนั้นได้อ่านตอนนี้ อย่างไรต้องเพิ่มความจำ และความสะดุดใจขึ้นมาในทันทีว่า เหตุการณ์ได้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

การถวายเพลิง ไม่ได้ถวายด้วยฟืนหรือถ่านดังที่เคยทำกันมา แต่ถวายด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งบรรดาศิษย์ท่านผู้เคารพเลื่อมใสในท่านสั่งมาจากฝั่งแม่น้ำโขง ประเทศลาวเป็นพิเศษจนเพียงพอกับความต้องการและผสมด้วยธูปหอมเป็นเชื้อเพลิงตลอดสาย ผลเป็น ” ความเรียบร้อยเช่นเดียวกับที่เผาด้วยฟืนหรือถ่าน นับแต่เริ่มถวายเพลิงท่าน ได้มีกรรมการทั้งพระและฆราวาสคอยดูแลกิจการอยู่เป็นประจำตลอดงานนั้น และมีการรักษาอยู่ตลอดไป จนถึงเวลาเก็บอัฐิท่าน”

หากการรวบรวมนี้มีข้อผิดพลาดประการใด ผู้ดูแลเว็บไซต์กราบขอขมาองค์ครูบาอาจารย์ผู้เป็นเจ้าของบันทึกทั้งสามท่าน กับขอน้อมรับคำแนะนำไว้เพื่อการแก้ไข ถ้าหากมีประโยชน์อยู่บ้างขอให้การรวบรวมนี้จงเป็นสังฆานุสติเครื่องรำลึกถึงองค์พระบูรพาจารย์ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถรต่อไป

เชิงอรรถ

(๑) พระอาจารย์มหาในที่นี้คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงปู่พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ในระยะนั้นท่านกำลังเร่งความเพียรอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนครนคร

(๒) หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ปรากฏในหนังสือชีวประวัติของท่านในหน้าที่ ๓ ว่าท่านลงมือบันทึกเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๔ พรรษาที่ ๓๖

บรรณานุกรม

  • พระอาจารย์ มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน , ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, กรุงเทพฯ: บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๕๑.
  • พระราชธรรมเจติยาจารย์( วิริยังค์ สิรินฺธโร) , ประวัติพระอาจารย์มั่นฉบับสมบูรณ์และใต้สามัญสำนึก, กรุงเทพฯ : บริษัทประชาชน จำกัด, ๒๕๔๑.
  • หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต, ชีวประวัติพระหล้า เขมปตฺโต, กรุงเทพฯ : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๓๙.

 

ขอเชิญลง สมุดเยี่ยม
www.luangpumun.org