เนื่องในวาระคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร “ วันบูรพาจารย์ ” ปีที่ ๕๗ บันทึกประวัติศาสตร์ พระบูรพาจารย์ ท่านใดที่เคยศึกษามหาเถระประวัติ “ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ” คงจะเคยสงสัยในความเป็นมาของรูปถ่ายหลวงปู่รูปต่างๆ ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะท่านใดที่เคยเดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่มั่นฯ ที่จังหวัดสกลนคร หรือหนังสือประวัติหลวงปู่มั่นฯ ที่พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้เขียนไว้หรือแม้กระทั้งหนังสือที่ได้ตีพิมพ์ล่าสุด “ บูรพาจารย์ ” คงจะได้เห็นรูปหลวงปู่มั่นฯ ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นภาพต้นฉบับ ที่ปรากฏในรูปถ่ายเก่าในกรอบไม้โบราณในรูปตั้งอยู่บนโต๊ะไม้ ด้านหน้าของรูปคืออัฐิธาตุหลวงปู่มั่นที่แปรสภาพเป็น “ พระธาตุ ” ข้างๆ คือ คุณวัน คมนามูล อุบาสกผู้พบความมหัศจรรย์ของอัฐิธาตุหลวงปู่มั่นเป็นคนแรก และอีกภาพก็มีท่านพระอาจารย์มหาบัวฯ ขณะกำลังพิจารณาอัฐิธาตุหลวงปู่มั่นฯ อยู่ด้วย
หลายท่านคงอาจสงสัยว่ารูปถ่ายดังกล่าวปัจจุบันอยู่ที่ใด มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และยิ่งถ้าสังเกตในภาพแล้วจะพบว่ามีข้อความอยู่ใต้ภาพด้วย ซึ่งข้อความนี้อาจจะไขสิ่งที่อยู่เบื้องหลังภาพอาจเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าที่กำลังรอการเปิดเผยก็เป็นได้ จนกระทั้งขณะที่ข้าพเจ้าอุปสมบทอยู่ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ข้าพเจ้าก็ได้พบกับผู้ที่ครอบครองภาพนี้อยู่ คือ “ ดร.นระ คมนามูล ” ทายาทของ “ คุณวัน คมนามูล ” ผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวความมหัศจรรย์ของอัฐิธาตุหลวงปู่มั่นเมื่อกว่าห้าสิบปีมาแล้วและยังเป็นเจ้าของรูปดังกล่าวด้วย จนกระทั้งข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมเยียนบ้านพักของ ดร.นระฯ จึงได้มาอยู่ตรงหน้า “ ประจักษ์พยานแห่งพระบูรพาจารย์กรรมฐาน ” ภาพถ่ายประวัติศาสตร์หลวงปู่มั่นฯ ต้นฉบับ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ค้นพบ ข้าพเจ้าก้มกราบรำลึกพระสังฆานุสติประดุจองค์ท่านได้มาโปรดข้าพเจ้าอยู่ตรงหน้าในเพศบรรพชิตของข้าพเจ้าในขณะนั้น รูปถ่ายนี้ถ่ายในขณะที่หลวงปู่มั่นอยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิ ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฏิ นั่งอยู่บนอาสนะสีขาว มีพรมปูทับและหมอนอิงหลัง บนธรรมาสน์ขนาดใหญ่มีพนักพิงทรงสูง รูปถ่ายมีขนาดโดยประมาณ กว้าง ๑๐ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว ที่มุมซ้ายของภาพมีรอยปั๊มนูนแสดงร้านถ่ายภาพ “ มีกวง นครราชสีมา ” ติดบนกระดาษแข็งหนา บรรจุอยู่ภายในกรอบไม้สักทาสีทองแกะสลักเป็นลายเถาองุ่น มีขนาดโดยประมาณ กว้าง ๒๐ นิ้ว ยาว ๒๕ นิ้ว อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และที่สำคัญ คือ ข้อความที่บันทึกอยู่ด้านล่างรูปถ่ายบนกระดาษแข็ง ซึ่งข้าพเจ้าถอดข้อความได้ดังนี้ “ ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๘๓ รูปพระอาจารย์หมั้น อายุ ๗๐ ปี พรรษา ๔๗ เป็นพระมหาเถระ ถือธุดงค์วัต ชำนาญในสมถะวิปัสสนา มีลูกศิษมาก ท่านศึกษาต่อ พระปัญญาพิสาระเถร พระอุบาลี เป็นกรรมวาจา ในภาคอิสานและภาคพายัพไม่ใครสู้ในทางปฏิบัติชอบอยู่ในป่า เขาถ้ำ อยู่เขาเชียงใหม่ ” และยังลงรายมือชื่อ “ วัน คมนามูล ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คุณวันฯ เป็นผู้บันทึก และข้างหลังของภาพก็ยังมีบันทึกตามแนวนอนของกรอบรูป มีข้อความว่า “ รูปพระอาจารย์หมั้น เกิดเมืองอุบลภาคอิสาน อายุ ๗๐ ปี พรรษา ๔๗ ได้ศึกษาเล่าเรียนต่อพระปัญญาภิสารเถระ เจ้าคุณอุบาลีเป็นกรรมวาจา ท่านได้ปฏิบัติในสมถะวิปัสสนา ท่านกลับเชียงใหม่ อยู่ในเขาเชียงใหม่ ๑๑ ปี มีลูกศิษย์มาก พระอาจารย์สิงห์ พระมหาปิ่น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฟั่น พระอาจารย์ภูมี พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์สีโห พระอาจารย์ลี พระอาจารย์กงมา พระอาจารย์คำดี และท่านได้ปฏิบัติที่สุดในพระศาสนา ท่านได้ทั้งมรรคผลรู้ธรรมพิเศษ และมีปัญญาอภิญญารู้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แลรู้บุพเพนิวาสานุสติญาณ ข้าพเจ้าเรียกช่างภาพมาถ่ายภาพไว้ เพื่อให้กุลบุตรและธิดาเกิดมาภายหลังจะได้รู้ได้เห็นเป็นตัวอย่างว่าพระอรหันต์ไม่ขาดจากโลก ในประเทศสยามประเทศไทย...พระกรรมถานคณะอาจารย์หมั้น พระอาจารย์สิงห์ เป็นลูกสิสของท่านได้ประกาศพระศาสนาในทางสมถวิปัสสนา เป็นกำลังของพระศาสนา อุบล อุดร นครพนม สกล นครราชสีมา ไชยภูมิ สุริน บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ ตราด จันทบุรี กรุงเทพ ธนบุรี สมุทรปราการ บางปู สระบุรี ข้าพเจ้าได้ศึกษาจากท่านนี้ จึงได้รู้หลักของพระศาสนา ไม่ใช่พระลวงโลกย์ ไม่สั่งสอนโดยไม่เห็นแก่ลาภสักการะ ” “ นายวัน คมนามูล อายุ ๔๔ ปี เกิดปีวอก วันจันทร์ เดือน ๑๐ ” จากข้อความด้านหลังจะเห็นได้ว่า เป็นการบันทึกต่อเนื่องจากด้านหน้าที่เนื้อที่ไม่พอ คุณวันฯ จึงได้บันทึกข้อความทั้งหมดอีกครั้งด้านหลังภาพ พร้อมทั้งบันทึกอายุและวันเกิดของคุณวันฯ ในขณะที่บันทึก ส่วนลักษณะการสะกดชื่อพระอาจารย์มั่นของคุณวันที่เขียนว่า “ พระอาจารย์หมั้น ” คงเป็นการสะกดที่คลาดเคลื่อน หรือเป็นความนิยมของการสะกดในสมัยนั้นซึ่งในหลายๆ คำจะเห็นว่าสะกดไม่เหมือนกับปัจจุบัน แต่เมื่อผันวรรณยุกต์แล้วก็จะเห็นว่า ออกเสียงเหมือนกับคำว่า “ มั่น ” เหมือนกัน |