ตอบปัญหาชาวโคราช
  โดยหลวงปู่มั่น  ภูริทัตตมหาเถระ

 
หลังจากที่ท่านกลับจากเชียงใหม่  เข้าพักที่วัดบรมนิวาสกรุงเทพ ฯ
ตามคำสั่งของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( ติสโส  อ้วน )  ก่อนเดินทางไปอุดร ฯ
ในระยะที่ท่านพักอยู่ที่นั้นปรากฏว่ามีคนมาถามปัญหากับท่านมาก  มีปัญหาของบางรายที่แปลกกว่าปัญหาทั้งหลาย  ซึ่งมีดังนี้

( จาก"ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตโต" 
โดย หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน  )


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์( ติสโส  อ้วน )
วัดบรมนิวาส  กรุงเทพ ฯ
ชาวกรุงเทพ
 ได้ทราบว่าท่านรักษาศีลองค์เดียว  มิได้รักษาถึง ๒๒๗ องค์  เหมือนพระทั้งหลายที่รักษากันใช้ไหม

หลวงปู่มั่น
 ใช่  อาตมารักษาเพียงอันเดียว

ชาวกรุงเทพ
 ที่ท่านรักษาเพียงอันเดียวนั้นคืออะไร

หลวงปู่มั่น
 คือใจ

ชาวกรุงเทพ
 ส่วน ๒๒๗ นั้นท่านไม่ได้รักษาหรือ

หลวงปู่มั่น
 อาตมารักษาใจไม่ให้คิดพูดทำในทางผิด  อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้  จะเป็น ๒๒๗ หรือมากกว่านั้นก็ตาม  บรรดาที่เป็นข้อบัญญัติห้าม  อาตมาก็เย็นใจว่า  ตนมิได้ทำผิดต่อพุทธบัญญัติ  ส่วนท่านผู้ใดจะว่าอาตมารักษาศีล ๒๒๗ หรือไม่นั้น  สุดแต่ผู้นั้นจะคิดจะพูดเอาตามความคิดของตน  เฉพาะอาตมาได้รักษาใจอันเป็นประธานของกายวาจาอย่างเข้มงวดกวดขันตลอดมา  นับแต่เริ่มอุปสมบท

ชาวกรุงเทพ
 การรักษาศีลต้องรักษาใจด้วยหรือ

หลวงปู่มั่น
 ถ้าไม่รักษาใจจะรักษาอะไรถึงจะเป็นศีลเป็นธรรมที่ดีงามได้  นอกจากคนที่ตายแล้วเท่านั้นจะไม่ต้องรักษาใจแม้กายวาจาก็ไม่จำต้องรักษา  แต่ความเป็นเช่นนั้นของคนตายนักปราชญ์ท่านไม่ได้เรียกว่าเขามีศีล  เพราะไม่มีเจตนาเป็นเครื่องส่องแสดงออก  ถ้าเป็นศิลได้ควรเรียกได้เพียงว่าศีลคนตาย  ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ตามคำเรียกแต่อย่างใด  ส่วนอาตมามิใช่คนตายจะรักษาศีลแบบคนตายนั้นไม่ได้  ต้องรักษาใจให้เป็นศีลเป็นธรรมสมกับใจเป็นผู้ทรงไว้ทั้งบุญทั้งบาปอย่างตายตัว

ชาวกรุงเทพ
 ได้ยินในตำราว่าไว้ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเรียกว่าศีล  จึงเข้าใจว่าการรักษาศีลไม่จำเป็นต้องรักษาใจก็ได้  จึงได้เรียนถามอย่างนั้น

หลวงปู่มั่น
 ที่ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยนั้นก็ถูก  แต่กายวาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้นต้นเหตุมาจากอะไร  ถ้าไม่เป็นมาจากใจผู้เป็นนายคอยบังคับกายวาจาให้เป็นไปในทางที่ถูก  เมื่อเป็นมาจากใจ  ใจจะควรปฏิบัติอย่างไรต่อตัวเองบ้าง  จึงจะควรเป็นผู้ควบคุมกายวาจาให้เป็นศีลเป็นธรรมที่น่าอบอุ่นแก่ตัวเอง  และน่าเคารพเลื่อมใสแก่ผู้อื่นได้  ไม่เพียงแต่ศีลธรรมที่จำเป็นต้องอาศัยใจเป็นผู้คอบควบคุมรักษาเลย  แม้กิจการอื่น ๆ จำต้องอาศัยใจเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยดี  การงานนั้น ๆ จึงจะเป็นที่เรียบร้อยไม่ผิดพลาดและทรงคุณภาพโดยสมบูรณ์ตามชนิดของมัน  การรักษาโรคเขายังค้นหาสมุฏฐานของมัน  จะควรรักษาอย่างไรจึงจะหายได้เท่าที่ควร  ไม่เป็นโรคเรื้อรังต่อไป  การรักษาศีลธรรมไม่มีใจเป็นตัวประธานพาให้เป็นไป  ผลก็คือความเป็นผู้มีศีลด่างพร้อย  ศีลขาดศีลทะลุ  ความเป็นผู้มีธรรมที่น่าสลดสังเวช  ธรรมพาอยู่ธรรมพาไปอย่างไม่มีจุดหมาย  ธรรมบอ  ธรรมบ้า  ธรรมแตก  ซึ่งล้วนเป็นจุดที่ศาสนาจะพลอยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วยอย่างแยกไม่ออก  ไม่เป็นศีลธรรมอันน่าอบอุ่นแก่ผู้รักษา  และไม่น่าเลื่อมใสแก่ผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างเลย  อาตมาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก  บวชแล้วอาจารย์พาเที่ยวและอยู่ตามป่าตามเขา  เรียนธรรมก็เรียนไปกับต้นไม้ใบหญ้า  แม่น้ำลำธาร  หินผาหน้าถ้ำ  เรียนไปกับเสียงนกเสียงกา  เสียงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ตามทัศนียภามที่มีอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง  ไม่ค่อยได้เรียนในคัมภีร์ใบลานพอจะมีความรู้สแตกฉานทางศีลธรรมการตอบปัญหาจึงเป็นไปตามนิสัยของผู้ศึกษาธรรมเถื่อน ๆ รู้สึกจนปัญญาที่ไม่สามารถค้นหาธรรมที่ไพเราะเหมาะสมมาอธิบายให้ท่านผู้สนใจฟังอย่างภูมิใจได้

ชาวกรุงเทพ
 คำว่าศีลได้แก่สภาพเช่นไร  และอะไรเป็นเป็นศิลอย่างแท้จริง

หลวงปู่มั่น
 ความคิดในแง่ต่าง ๆ อันเป็นไปด้วยความมีสติ  รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ควร  ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม  คอยบังคับกายวาจาใจให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ  ศีลที่เกิดจากการรักษาในลักษณะดังกล่าวมาชื่อว่ามีสภาพปกติไม่คะนองทางกายวาจาใจให้เป็นกิริยาที่น่าเกลียด  นอกจากความปกติดีงามทางกายวาจาใจของผู้มีศีลว่าเป็นศีลเป็นธรรมแล้ว  ก็ยากจะเรียกให้ถูกได้ว่าอะไรเป็นศีลเป็นธรรมที่แท้จริง  เพราะศีลกับผู้รักษาศีลแยกกันได้ยาก  ไม่เหมือนตัวบ้านเรือนกับเจ้าของบ้านเรือนซึ่งเป็นคนละอย่าง  ที่พอจะแยกกันออกได้ไม่ยากนัก  ว่านั่นคือตัวบ้าน  และนั่นคือเจ้าของบ้าน  ส่วนศีลกับคนจะแยกจากกันอย่างนั้นเป็นการลำบากเฉพาะอาตมาแล้วแยกไม่ได้  แม้แต่ผลคือความเย็นใจที่เกิดจากการรักษาศีลก็แยกไม่ออก  ถ้าแยกออกได้ศีลก็อาจหลายเป็นสินค้ามีเกลื่อนตลาดไปนานแล้ว  และอาจจะมีโจรมาแอบขโมยศีลธรรมไปขายจนหมดเกลี้ยงจากตัวไปหลายรายแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนี้ศีลธรรมก็จะกลายเป็นสาเหตุก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของเช่นเดียวกับสมบัติอื่น ๆ ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเอือมระอาที่จะแสวงหาศีลธรรมกัน  เพราะได้มาก็ไม่ปลอดภัย  ดังนั้น  ความไม่รู้ว่า "อะไรเป็นศิลอย่างแท้จริง" จึงเป็นอุบายวิธีหลึกภัยอันอาจเกิดแก่ศีล  และผู้มีศีลได้ทางหนึ่งอย่างแยบยลและเย็นใจ  อาตมาจึงไม่คิดอยากแยกศีลออกจากตัวแม้แยกได้  เพราะระวังภัยยาก  แยกไม่ได้อย่างนี้รู้สึกว่าอยู่สบาย  ไปไหนมาไหนและอยู่ที่ใดไม่ต้องเป็นห่วงว่าศีลจะหาย  ตัวจะตายจากศีล  และกลับมาเป็นผีเฝ้ากองศีลเช่นเดียวกับคนเป็นห่วงสมบัติ  ตายแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้าทรัพย์  ไม่มีวันไปผุดไปเกิดได้ฉะนั้น.

WWW.LUANGPUMUN.ORG