๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถรเป็นปีที่
๕๔ ร่วมรำลึกถึง "พระสังฆคุณ" ขององค์ท่าน เว็บหลวงปู่มั่นขอนำเสนอบทความจากหนังสือ
"ชีวิตคือการต่อสู้ : ประวัติและผลงาน พระราชธรรมเจติยาจารย์ (
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ) เพื่อเป็นนำเสนอข้อวัตรปฏิบัตของคณะพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น
ภูริทตฺตมหาเถร แม้จะถูกใส่ร้ายแต่ด้วยการปฏิบัติอันบริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย
ก็สามารถผ่านพ้นข้อกล่าวหาต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับจนถึงปัจจุบัน จากบันทึกของหลวงปู่วิริยังค์
สิรินฺธโรครั้งยังเป็นสามเณรวิริยังค์ติดตามพระอาจารย์ของท่านคือพระอาจารย์กงมา
จิรปุญฺโญ ในวาระเริ่มต้นสร้างวัดทรายงาม อ.เมือง จ.จันทบุรี ประมาณปี
พ.ศ. ๒๔๗๙
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศน์ ทรงเสด็จมาสืบข้อเท็จจริง
พระอาจารย์ของข้าพเจ้า( ข้าพเจ้าในที่นี้คือสามเณรวิริยังค์
) นอกจากท่านจะใช้ความพยายามแนะนำพร่ำสอนชาวบ้านหนองบัวแล้ว ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสก็ได้ถวายปัจจัยมาก
ท่านก็ให้เขาสร้างกุฏิ ศาลามั่นคงถาวรขึ้น ทั้งนี้ย่อมเป็นสิ่งอันพอสมควรทีเดียว
แต่ผลของการแนะนำข้อปฏิบัตินั้นก็ค่อยๆ ปรากฏโฉมหน้าออกมาเรื่อยๆ เพราะเหตุชาวบ้านหนองบัวถูกพระอาจารย์ของข้าพเจ้าต่อสู้จนชนะ
หมายความว่าชนะโดยการปฏิบัติธรรมให้เป็นตัวอย่าง คำพูดนั้นพูดกันแต่น้อยปฏิบัติให้มาก
อย่างไรก็ตามพวกถือมานะทิฏฐิก็ยังมีอยู่ พวกที่ยังไม่ลดละความพยายาม
คือพยายามจะจับผิดพระอาจารย์ให้ได้ จึงร่วมกับพระภิกษุบางองค์ที่คงแก่เรียน
มีฐานันดรนำเรื่องต่างๆ ไปฟ้องสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์หลายครั้งและก็หลายหน
จนสมเด็จฯ ท่านคงรำคาญ หรือต้องการจะทราบความจริงของพระคณะกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่น
ภูริทัตตเถระ เพราะสมเด็จฯ ก็ได้ทราบเกียรติคุณนี้มานานแล้ว ยังไม่เคยทราบข้อเท็จจริง
หากจะปรักปรำเอาความผิดตามที่ชาวบ้านหนองบัวบางพวกและพระฐานันดรบางรูปกล่าวหา
ก็จะเสียผู้ใหญ่ อาจจะเสียรูปแห่งการปกครองได้ เพาะสมเด็จฯ คงจะมองกาลไกลว่า
พระที่ปฏิบัตินั้นหายาก และที่จะมีความสมารถก็หายาก หากทำงานผิดพลาดจะจะเสียโอกาสทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายผู้ประสงค์ดี
หากทำถูกต้องอาจจะเป็นกำลังที่ยิ่งใหญ่ต่อไปภายหน้า เมื่อสมเด็จฯ ได้คิดเช่นนี้แล้ว
พระองค์จึงทรงละความลำบาก แม้จะต้องทรงลำบากฉันใด ก็มิทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากนั้นเลย
ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปพร้อมกับพระมหาศาสนโสภณ (ป.๙ ) โดยสารเรือไฟจากกรุงเทพฯ
ไปจังหวัดจันทบุรี ( เพราะไม่มีทางรถยนต์)
มิได้มีใครคาดหมายมาก่อนว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจะเสด็จมาโดยพระองค์เอง
ต่างก็ได้ทำพิธีต้อนรับกันเป็นการใหญ่ ตั้งแต่ทางจังหวัดจันทบุรีและวัดต่างๆ
ในเมือง พระอาจารย์ของข้าพเจ้าเฉยๆ แม้จะได้ข่าวว่าสมเด็จฯ เสด็จ เพราะไม่นึกว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าจะเสด็จมาที่วัดทรายงามแม้สมเด็จฯ
เองก็มิได้ทรงปรารภว่าจะมาวัดทรายงามแต่อย่างใด ปล่อยให้ข้าราชการ พระฐานันดรศักดิ์ต้อนรับกันจ้าละหวั่นอยู่ที่ตัวเมืองจันทบุรี
อยู่ๆ วันหนึ่งสมเด็จฯ ก็ทรงตรัสว่า เราจะไปวัดทรายงามเดี๋ยวนี้ ทำเอาข้าราชการพระฐานันดรศักดิ์ตกใจ
จะจัดเรือถวายให้ สมเด็จฯ ก็ไม่เอา ทรงรับสั่งว่าจะเดินไปเดี๋ยวนี้ แล้วก็ให้คนนำทาง
ทรงเสด็จเดินในเวลานั้นบ่ายแล้ว ม้าเร็วรีบแจวอ้าวนำเรื่องไปบอกกับพระอาจารย์ของสมเณรวิ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเดินเร็วเหมือนกัน ม้าเร็วมาส่งข่าวไม่ถึงชั่วโมงก็เสด็จถึงแล้วทรงวัดทรายงามก็มิทันได้ตั้งตัว
สมเด็จฯ เสด็จถึงเสียแล้ว สมเณรวิริยังค์พร้อมพระอาจารย์ พระ ๑๐ กว่ารูป
ฆราวาสสี่ห้าคนเดินออกไปรับเสด็จทันตรงทุ่งนาห่างวัดไม่ถึง ๑๐ เส้น สมเด็จฯ
ทรงดุเอาว่า "ออกมารับทำไม" แล้วทรงรับสั่งว่า "เราจะพักที่นี่ไม่มีกำหนด"
ทำเอาพระอาจารย์งง ส.ณ.วิก็งง ข้าราชการพระฐานันดรศักดิ์ก็งง แหละแล้วพระอาจารย์ก็ได้จัดกุฏิถวายให้พักตามพระอัธยาศัย
แล้วก็ให้สามเณรวิริยังค์เป็นผู้อุปฐากดูแลอย่างใกล้ชิด
ผู้ไปฟ้องสมเด็จพระสังฆราชเจ้าครั้งนี้มี ๕ ข้อด้วยกัน คือ
๑. พระอาจารย์กงมา พาพระบิณฑบาตรสะพายบาตรเหมือนมหานิกาย เป็นการแตกคอกนอกจากธรรมเนียมธรรมยุต
๒. พระอาจารย์กงมา เมื่อโยมถวายสังฆทานต้องอุปโลกน์มิฉะนั้นจะไม่ฉัน
เป็นการงมงาย เพราะเขาถวายพระภิกษุสงฆ์แล้วไม่ต้องอุปโลกน์
๓. พระอาจารย์กงมา เทศนาแปลหนังสือไม่เป็น ผิดๆ ถูกๆ ซึ่งเป็นการไม่เหมาะแก่ที่จะเป็นผู้นำ
๔. พระอาจารย์กงมาไปธุดงค์ ทำน้ำมนต์ ยาเสน่ห์ ของขลัง แนะนำแต่ทางโลกีย์
ซึ่งผิดระเบียบพระธุดงค์
๕. พระอาจารย์กงมา ทำอุโบสถไม่มีพัทธสีมา
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จไปนั้น
ทรงเสด็จไปในสภาพพระธรรมดา มิให้ใครหรือพระรูปใดรู้ว่าพระองค์มาสอบสวนในเรื่องต่างๆ
ที่มีคนไปฟ้อง และทรงปฏิบัติเหมือนพระที่วัดทรายงามทุกประการ เช่น ฉันหนเดียว
ฉันในบาตร สวดมนต์ที่ศาลา เวลาพูดจาก็มิให้พูดด้วยราชาศัพท์ ให้ทำทุกกอย่างเป็นกันเอง
แล้วทรงพูดว่าเรามาเยี่ยม "กงมา" และประสงค์จะมาเรียนกรรมฐานด้วย
ให้ช่วยสอนให้ ทำเอาพระอาจารย์ของ ส.ณ.วิกำลังงงยิ่งงงใหญ่พระอาจารย์บ่นกับสามเณรวิว่า
"นี่เราจะสอนหนังสือสังฆราชแล้วหรือ" ทำเอาสามเณรวิก็สงสัยว่า
สมเด็จพระสังฆราชควรจะเรียกหรือสั่งให้พระอาจารย์เข้าไปอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์
กรุงเทพฯ แล้วให้สอนกรรมฐานให้ก็ได้ ทำไมพระองค์จะต้องถ่อร่างมาถึงพวกเรา
แต่สามเณรวิก็ถือว่าเป็นเกียรติแด่พระอาจารย์ใหญ่หลวงนักครั้งนี้ ภายหลังถึงทราบว่า
สมเด็จพระสังฆราชทรงเสด็จมาสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่มีผู้กล่าวหาพระอาจารย์กงมาฯ
เช้าวันแรกสมเด็จพระสังฆราชตื่นบรรทมแต่เช้า
ทรงถือบาตรออกจากกุฏิมารอพระที่วัดทรายงามจะออกบิณฑบาตร และทุกๆ องค์ก็ออกบิณฑบาตรเป็นปรกติเดินตามกันเป็นแถว
แล้วทุกองค์ก็หยุดเมื่อเห็นสมเด็จฯ ยืนอยู่ข้างหน้า แล้วสมเด็จฯ ก็เดินออกมาตรวจดูพระทุกๆ
รูปที่กำลังสะพายบาตร เอาบาตรไว้ข้างหน้าคลุมผ้าอย่างมีปริมณฑล ข้าพเจ้ากำลังยืนอยู่ท้ายแถว
สงสัยว่าสมเด็จฯ ท่านมายืนดูพวกเราทำไม ทันใดนั้นสมเด็จฯ ก็ทรงตรัสว่า
"เออพวกเธอทำไมถึงไม่ได้จับบาตรเหมือนพระธรรมยุตทั่วไป แต่สะพายไว้ข้างหน้าเช่นนี้
ก็เหมือนกับอุ้ม เหมือนกันไม่ผิดแน่" ข้าพเจ้าสงสัยมากทำไมสมเด็จฯ
ทรงตรัสเช่นนี้ แต่ทำเอาข้าพเจ้าดีใจมาก เพราะคำว่าไม่ผิดแน่ แต่ก็สงสัยอยู่ครามครัน
อีกสองสามวันผ่านไป วันหนึ่งข้าพเจ้าก็ได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดและคอยถวายการรับใช้สมเด็จฯ
ตามปกติ สมเด็จฯ ไม่ยอมให้พูดราชาศัพท์ข้าพเจ้ารู้จักราชาศัพท์ งู งู
ปลา ปลา ท่านบอกว่า "เฮ้ยเณร หูกันดังอู้ยังกะรถไฟ" ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจมาถามพระอาจารย์ว่า
สมเด็จฯ บอกว่า หูท่านดังอู้ยังกะรถไฟ พระอาจารย์บอกว่านั่นแหละ สมเด็จฯ
ลมขึ้นคงจะลมขึ้นเพราะฉันหนเดียวเหมือนกับพวกเรา เนื่องจากท่านไม่เคย
"เณรพรุ่งนี้นำอาหารเพลไปถวายท่านนะ" พระอาจารย์ของสามเณรวิกำชับ
รุ่งขึ้นหลังจากทรงเสวยภัตตาหารเช้าแล้ว ข้าพเจ้าก็ให้โยมจัดภัตตาหารเพลนำเข้าไปถวายสมเด็จฯ
ทรงเห็นพร้อมกับบอกว่าเอากลับไป อยู่ที่ไหนก็ต้องทำตามระเบียบเขาที่นั่นถึงจะถูก
พร้อมกับบอกว่า "เฮ้ยท้องกันไม่ใช้ท้องอิฐนี่" แม้วันต่อมข้าพเจ้าก็ให้โยมทำภัตตาหารเพลไปถวายพระองค์ไม่ทรงฉันและสำทับว่าอย่าทำมาอีก
วันหลังต่อมา มีโยมอาราธนาไปฉันในบ้านกันหมดวัด สมเด็จฯก็ทรงรับอาราธนา
เมื่อเขาจัดสำรับเสร็จโยมก็ถวายเป็นสังฆทาน พระอาจารย์กงมาฯ ลุกขึ้นขอโอกาสทำพิธีอุปโลกน์
สมเด็จฯ ก็ทรงอนุญาต หลังจากทรงเสวยเสร็จกลับวัดแล้ว ทรงปรารภว่า "กงมาทำถูก"
อันที่จริงการถวายสังฆทานนั้น เขาอุทิศสงฆ์มิได้หมายความว่า พระสงฆ์ที่อยู่ต่อหน้าเขาเท่านั้น
เขาหมายถึงหมู่สงฆ์มีอริยสงฆ์เป็นต้น การอุปโลกน์ก็ทำเพื่อขอจากหมู่สงฆ์นั้นเป็นพิธีโบราณกาล
"กงมาทำถูก" พระองค์ทรงย้ำอีกครั้ง ส.ณ.วิ.ผู้นั่งฟังก็มีความมั่นใจและเข้าใจมากขึ้นถึงพิธีกรรมตอนนี้
หลังจากสมเด็จฯ ประทับอยู่ ๕ วัน พระอาจารย์กงมา
ได้ขอโอกาสป่าวร้องชาวบ้านให้มาฟังธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
พระองค์ทรงให้โอกาสแล้ว พระอาจารย์ก็ได้ให้คนป่าวร้องประชาชนมาฟังเทศน์
ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อชาวบ้านหนองบัวได้ฟังคำป่าวร้องเช่นนี้ก็เกิดความสนใจ
เพราะมิเคยฟังเทศน์สมเด็จพระสังฆราชเลยตั้งแต่เกิดมา จึงพากันมาเต็มแน่นขนัดที่ศาลา
ล้นหลามนั่งกับดินมากมายเป็นพิเศษ เมื่อประชาชนพร้อมแล้ว พระอาจารย์ฯ
ก็ได้ไปทูลอาราธนาให้สมเด็จฯ ลงมาประทานธรรมเทศนา สมเด็จฯ อ้างว่าไม่สะบาย
ให้"กงมา" เทศน์และห้ามองค์อื่นเทศน์โดยเด็ดขาด พระอาจารย์ฯ
สุดที่จะขัดรับสั่ง จำเป็นต้องกลับมาแสดงพระธรรมเทศนาแทนสมเด็จพระสังฆราช
ทั้งๆ ที่ไม่ได้คิดมาก่อน สมเด็จฯ ทรงไล่ให้ ส.ณ.วิ. ผู้ปฏิบัติท่านอยู่และพระทุกๆ
องค์ที่มากับท่านให้ไปฟังเทศน์ที่ศาลาให้หมด เหลือท่านไว้องค์เดียว ส.ณ.วิ.
ก็สุดจะเป็นห่วงว่าท่านต้องประสงค์ประการใด ไม่มีใครคอยรับใช้ แต่ถูกบังคับ
ส.ณ.วิ. ก็ต้องมานั่งฟังเทศน์ที่ศาลา วันนี้พระอาจารย์ฯ แสดงธรรมแจ่มแจ้งดีแท้
แปลหนังสือฉะฉาน มีความตอนหนึ่งว่า การปฏิบัติจิตนี้ถ้ายังหลงปริยัติอยู่จิตจะไม่เป็นสมาธิ
เพราะปริยัติเหมือนตัวหนังสือ แต่สมาธิเหมือนของจริงท่านเปรียบว่า กวาง
คือ ก-ว-า-ง กับตัวกวางจริงนั้นมันผิดกันไกลนัก เพราะกวางจริงมันมีเขา
มีขา มีตัว ฉะนั้นถ้าจะมาหลงอยู่ที่ตัว ก-ว-า-ง อย่างเดียวก็รู้กวางตัวจริงไม่ได้
เช่นคนจะทำญาณให้เกิดขึ้น เขารู้ว่าปฐมฌาณมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์
ปิติ สุข เอกัตคะตา ถ้าผู้บำเพ็ญสมาธิจะมานั่งท่องวิตก - นี่วิจารณ์
- นั่นปิติ - โน่นสุข - นี่เอกัคคะตา ถ้ามัวมานั่งนับอยู่อย่างนี้ตลอดชาติก็ไม่ได้ฌาณ
แต่ผู้บำเพ็ญสมาธิจะต้องมาบริกรรมพุทโธๆ จนติด ตัวอารมณ์ภายนอกได้แล้ว
ไม่นึกคิดไปทางอื่นแนวแน่อยู่ที่พุทโธอันเดียว เลิกคิดไปตามอารมณ์ภายนอกต่างๆ
แล้วจิตนี้ก็จะเป็นฌาณ ที่ว่า ฌานมีองค์ ๕ ก็ต่อเมื่อจิตละจากปริยัติคือองค์
๕ ของฌาณที่จำมาแล้ว ที่เป็นฌาณก็เพราะความเป็นหนึ่งของจิต
ส.ณ. วิ. ขณะนี้ฟังพระอาจาย์แสดงธรรม
เกิดปวดท้องเบาอย่างแรงจนทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาเดินลงศาลาเพื่อเข้าป่า
( เพราะมีป่าละเมาะอยู่ข้างศาลา ) เพื่อหาที่เบา ข้าพเจ้าต้องตกใจสุดขีดเพราะพบสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงประทับนั่งอยู่กับดินทราย
ฟังเทศน์พระอาจารย์กงมาอย่างใจจดใจจ่อ ข้าพเจ้าร้อง " โอ๊ะๆๆ สมเด็จฯ"
พระองค์ทรงห้ามข้าพเจ้าว่า "เณร จุ๊ จุ๊ จุ๊ อย่าเอะอะไป รีบกลับเร็ว"
ข้าพเจ้าถ่ายเบาแล้วรีบขึ้นบนศาลาฟังเทศน์พระอาจารย์ต่อไป คราวนี้ใจไม่ดี
เพราะทราบแล้วว่าพระอาจารย์ฯ กลังเทศน์ให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฟัง จะเป็นอย่างไรหนอ
ขออย่าพูดเล่นอย่าผิด ขอให้ดีที่สุด ระวังมากๆ เถิด นี้เป็นความคิดของ
ส.ณ. วิ.กำลังฟังเทศน์หลังพบสมเด็จฯ กำลังนั่งฟังอยู่ จิตใจไม่สบายเหมือนธรรมดาเสียแล้ว
รุ่งเช้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าตื่นบรรทมแต่เช้า เสด็จมาที่ลานวัดพร้อมกับท่านมหาปลอด
ป.๙ มีพระฐานันดรศักดิ์และพระอื่นยืนเรียงรายอยู่ ทรงรับสั่งขึ้นมาลอยๆ
ท่ามกลางคณะสงฆ์ว่า "เฮ้ย กงมาเทศน์เก่งมาก เก่งกว่าเปรียญ ๙ ประโยคเสียอีก
เทศน์อย่างนี้ เปรียญ ๙ ประโยคสู้ไม่ได้ " ส.ณ.วิ. ยืนฟังอยู่ก็พลอยดีใจไปด้วย
ครั้งแรกนึกว่าพระอาจารย์คงโดนแล้ว เพราะพระอาจารย์เพิ่งทราบว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงฟังเทศน์ก็ต่อเมื่อข้าพเจ้าไปเล่าให้ฟัง
พระอาจารย์ตลึงและบอกข้าพเจ้าว่า "เราแพ้รู้สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสียแล้ว"
วันนี้พอดีเป็นวันอุโบสถ แม้พระฐานันดรศักดิ์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะมาทูลอาราธนาให้พระองค์ไปลงอุโบสถที่วัดในเมือง
พระองค์ก็ไม่ทรงเสด็จ และทรงรับสั่งว่าจะทำปาฏิโมกข์ที่นี้ รู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันครูบาสังข์สวดปาฏิโมกข์
ก่อนจะลงอุโบสถ สมเด็จฯ ทรงถามพระอาจารย์ว่า "กงมาเธอใช้สีมาอะไรกันลงอุโบสถ"
พระอาจารย์ว่า "สัตตะพันตรสีมา" คือไกลจากเขตบ้าน ๔๙ วา ทรงให้พระวัดจากเขตบ้านถึงอุปจารอุโบสถเกินกว่า
๔๙ วา ทรงรับสั่งว่า "กงมานี้มีความรู้" ทรงอนุญาตให้พระสวดปาฏิโมกข์ต่อไป
แต่ครูบาสังข์ไม่ซ้อมมาให้ดี สวดตะกุกตะกัก โดนสมเด็จพระสังฆราชดุเอาเลยหลงใหญ่
ใช้เวลากว่าชั่วโมงจึงจบ ภายหลังปราฏกว่าสมเด็จได้บอกไปยังพระอาจารย์สิงห์
ขันตยาคโม ผู้รับเป็นหัวหน้าคณะกรรมฐานแทนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครั้งนั้นให้ซ้อมปาฏิโมกข์
พระอาจารย์สิงห์จึงตั้งกรรมการซ้อมปาฏิโมกข์กันเป็นการใหญ่ ปรากฏว่าพระอาจารย์มหาปิ่น
ปํญญาพโล ซึ่งเป็นน้องชายท่านอาจารย์สิงห์ ออกจากวัดบวรนิเวศน์เป็นผู้ชำนาญทางสวดปาฏิโมกข์
พระอาจารย์สิงห์จึงตั้งให้สอนปาฏิโมกข์ฝึกปาฏิโมกข์ จนปรากฏว่ามีพระปาฏิโมกข์ดีเกิดขึ้นหลายองค์
แม้ ส.ณ.วิ.ก็ได้ไปฝึกปาฏิโมกข์กับพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล
หน้าต่อไป >