พระธรรมเทศนา(๒)
ของหลวงปูมั่น  ภูริทัตตมหาเถรที่ได้มีการจดบันทึกไว้ ไปยังหน้า : [ | | | | บทนำ ]
 
๕. เรื่อง อัจฉริยะ - อัพภูตธรรม
             สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระบรมศาสดาของพวกเรา เมื่อพระองค์ยังเป็นท้าวศรีธารถ (สิทธัตถราชกุมาร) เสวยราชสมบัติอยู่ ทรงพิจารณา จตุนิมิต ๔ ประการ จึงบันดาลให้พระองค์เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ทรงบรรพชา ทรงอธิษฐานบรรพชา ที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที เครื่องสมถบริขารมีมาเอง เลื่อนลอยมาสวมพระกายเอง ทรงเพศเป็นบรรพชิตสมณสารูป สำเร็จด้วยบุญญาภินิหารของพระองค์เอง จึงเป็นการอัศจรรย์ไม่เคยมีไม่เคยเห็นมาในปางก่อน จึงเป็นเหตุให้พระองค์อัศจรรย์ใจ ไม่ถอยหลังในการประกอบความเพียร เพื่อตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ครั้นทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตตภาวนา ไม่ท้อถอยตลอดเวลา ๖ ปี ได้ตรัสรู้สัจจธรรม ของจริงโดยถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงอัศจรรย์ในธรรมที่ได้ตรัสรู้แล้วนั้นอีกเป็นอันมาก
             ในหมู่ปฐมสาวกนั่นเล่า ก็ปรากฏเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์เหมือนกัน เช่น ปัญจวัคคีย์ก็ดี พระยสและสหายของท่านก็ดี พระสาวกอื่นๆ ที่เป็นเอหิภิกฺขุก็ดี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้วได้สำเร็จมรรคผล และทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระองค์ พระองค์ทรงเหยียดพระหัตต์ออกเปล่งพระวาจาว่า เอหิภิกฺขุ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวดีแล้ว เพียงเท่านี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา อัฏฐบริขารเลื่อนลอยมาสวมสอดกาย ทรงเพศเป็นบรรพชิตสมณสารูป มีรูปอันน่าอัศจรรย์น่าเลื่อมในจริง สาวกเหล่านั้นก็อัศจรรย์ตนเองในธรรมอันไม่เคยรู้เคยเห็น อันสำเร็จแล้วด้วยบุญฤทธิ์และอำนาจพระวาจาอิทธิปาฏิหาริย์ของพระบรมศาสดาจารย์ ท่านเหล่านั้นจะกลับคืนไปบ้านเก่าได้อย่างไร เพราะจิตของท่านเหล่านั้นพ้นแล้วจากบ้านเก่า และอัศจรรย์ในธรรมอันตนรู้ตนเห็นแล้ว ทั้งบริขารที่สวมสอดกายอยู่ก็เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฎ์
             ครั้นต่อมาท่านเหล่านั้นไปประกาศพระพุทธศาสนา มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชด้วยติสรณคมนูปสัมปทาสำเร็จด้วยการเข้าถึงสรณะทั้ง ๓ คืออุทิศเฉพาะพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นภิกษุเต็มที่
             ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีพระญาณเล็งเห็นการณ์ไกล จึงทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์ ทรงประทานญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทาไว้เป็นแบบฉบับอันหมู่เราผู้ปฏิบัติได้ดำเนินตามอยู่ทุกวันนี้ได้พากันมาอุปสมบท
ในพระพุทธศาสนา อุทิศเฉพาะพระบรมศาสดาพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์แล้ว ทำความพากเพียรประโยคพยายามไปโดยไม่ต้องถอยแล้วก็คงจะได้รับความอัศจรรย์ใจในพระธรรมวินัยบ้างเป็นแน่ ไม่น้อยก็มาก ตามวาสนาบารมี ของตนโดยไม่สงสัยเลย ฯ

๖. เรื่อง วาสนา
             กุศลวาสนา อกุศลวาสนา อัพยากตวาสนา
             อัธยาศัยของสัตว์ เป็นมาแล้วต่างๆ คือ ดี เลว และกลางๆ วาสนาก็เป็นไปตามอัธยาศัย คือวาสนาที่ยิ่งกว่าตัว วาสนาเสมอตัว วาสนาที่เลวทราม บางคนเป็นผู้มีวาสนายิ่งในทางดีมาแล้ว แต่คบกับพาลวาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อนแต่คบกับบัณฑิตวาสนาก็เลื่อนขึ้นไปเป็นบัณฑิต บางคนคบมิตรเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ร้าย ไม่หายนะ ไม่เสื่อมทราม วาสนาก็พอประมาณสถานกลาง ฉะนั้นบุคคลพึงพยายามคบบัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้นไปโดยลำดับ
๗. เรื่อง สนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลอุดม
             กาเลน ธมฺมสฺสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
             การปฤกษาไต่ถาม หรือการสดับธรรมตามกาล ตามสมัย พระบรมศาสดาตรัสว่าเป็นมงคลความเจริญอันอุดมเลิศ
 หมู่เราต่างคนก็มุ่งหน้าเพื่อศึกษามาเองทั้งนั้นไม่ได้ไปเชื้อเชิญนิมนต์มา ครั้นมาศึกษามาปฏิบัติก็ต้องทำจริงปฏิบัติจริง ตามเยี่ยงอย่างพระบรมศาสดาจารย์เจ้าและสาวกขีณาสวะเจ้าผู้ปฏิบัติมาก่อน
 เบื้องต้นพึงพิจารณา สัจจธรรมคือของจริงทั้ง ๔ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อันท่านผู้เป็นอริยบุคคลได้ปฏิบัติกำหนดพิจารณามาแล้ว เกิด เราก็เกิดมาแล้ว คือร่างกายอันเป็นอยู่นี้มิใช่ก้อนเกิดหรือ? แก่ เจ็บ ตาย ก็ก้อนอันนี้แล เมื่อเราพิจารณาอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดพิจารณาบ้าง นอนกำหนดพิจารณาบ้าง จิตจะรวมเป็นสมาธิ รวมน้อยก็เป็นขณิกสมาธิ คือจิตรวมลงภวังค์หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอนออกมา ครั้นพิจารณาอยู่ไม่ถอยจนปรากฏเป็นอุคคหนิมิต จะเป็นนอกก็ตาม ในก็ตาม ให้พิจารณานิมิตนั้นจนจิตวางนิมิตรวมลงสู่ภวังค์ ตำรงอยู่นานพอประมาณแล้วถอยออกมา สมาธิในชั้นนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ พึงพิจารณานิมิตนั้นเรื่อยไปจนจิตรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐีติจิต เป็น อัปปนาสมาธิปฐมฌาน ถึงซึ่งเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว ครั้นจิตถอยออกมา ก็พึงพิจารณาอีกแล้วๆ เล่าๆ จนขยายแยกส่วนเป็นปฏิภาคนิมิตได้ต่อไป คือพิจารณาว่าตายแล้วมันจะเป็นอะไรไปอีก มันจะต้องเปื่อยเน่า ผุพังยังเหลือแต่ร่างกระดูก กำหนดทั้งภายในคือกายของตนทั้งภายนอกคือกายของผู้อื่น โดยให้เห็นส่วนต่างๆ ของร่างกายว่าส่วนนี้เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ เส้นเอ็นน้อยใหญ่มีเท่าไร กระดูกท่อนน้อยท่อนใหญ่มีเท่าไร โดยชัดเจนแจ่มแจ้ง กำหนดให้มันเกิดขึ้นมาอีกแล้วกำหนดให้มัน ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วตายสลายไปสู่สภาพเดิมของมัน คือไปเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม ถึงฐานะเดิมของมันนั้นแล
 เมื่อกำหนดจิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ทั้งภายนอกทั้งภายใน ทำให้มากให้หลาย ให้มีทั้งตายเก่าตายใหม่ มีแร้งกาสุนัขยื้อแย่งกัดกินอยู่ ก็จะเกิดปรีชาญาณขึ้น ตามแต่วาสนาอุปนิสัยของตน ดังนี้แล ฯ
๘. เรื่อง การทำจิตให้ผ่องใส
             สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
             การทำจิตของตนให้ผ่องใส เป็นการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
             พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ได้ตรัสสอนกาย วาจา จิต มิได้สอนอย่างอื่น สอนให้ปฏิบัติ ฝึกหัดจิตใจ ให้เอาจิตพิจารณากายเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หัดสติให้มากในการค้นคว้าที่เรียกว่าธัมมวิจยะ พิจารณาให้พอทีเดียว เมื่อพิจารณาพอจนเป็นสติสัมโพชฌงค์ จิตจึงจะเป็นสมาธิรวมลงเอง
             สมาธิมี ๓ ขั้น คือ ขณิกสมาธิ จิตรวมลงไปสู่ฐีติขณะแล้วพักอยู่หน่อยหนึ่ง ถอยออกมาเสีย อุปจารสมาธิ จิตรวมลงสู่ภวังค์แล้วพักอยู่นานหน่อยจึงถอยออกมารู้นิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง และอัปปนาสมาธิ สมาธิอันแน่วแน่ ได้แก่จิตรวมลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรมถึงเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีความรู้ตัวอยู่ว่า จิตดำรงอยู่ และประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ ประการ ค่อยสงบประณีตเข้าไปโดยลำดับ
 เมื่อหัดจิตอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าทำจิตให้ยิ่ง ได้ในพระบาลีว่า อธิจิตฺ เต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ การประกอบความพากเพียรทำจิตให้ยิ่ง เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
             การพิจารณากายนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติ อันนักปราชญ์ทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแสดงไว้ มีหลายนัยหลายประการ ท่านกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมูลกรรมฐานเรียกว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ที่พระอุปัชฌายะสอนเบื้องต้นแห่งการบรรพชาเป็นสามเณร และในธรรมจักกัปปวัตนสูตรว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ดังนี้ บัดนี้เราก็เกิดมาแล้วมิใช่หรือ? ครั้นเมื่อบุคคลมาปฏิบัติให้เป็น โอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณาในตนนี้แล้วเป็นไม่ผิด เพราะพระธรรมเป็น อกาลิโก มีอยู่ทุกเมื่อ อาโลโก สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีอะไรปิดบังเลย ฯ

WWW.LUANGPUMUN.ORG