พระธรรมเทศนา
ของหลวงปูมั่น  ภูริทัตตมหาเถรที่ได้มีการจดบันทึกไว้ ไปยังหน้า : [ | | | | หน้าหลัก ]
 

บันทึกโดย พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และ พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๒

คำนำบางส่วนของหนังสือซึ่งพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ (วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓) มีดังนี้

การที่ให้ชื่อธรรมเทศนา ของท่านอาจารย์ที่รวบรวมพิมพ์ชุดแรกว่า มุตโตทัย นั้น อาศัยคำชมของเจ้าพระคุณ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทเถระ จันทร์) เมื่อคราวท่านอาจารย์แสดงธรรมว่าด้วย
มูลกรรมฐาน ณ วิหารหลวงเชียงใหม่ว่า ท่านอาจารย์แสดงธรรมด้วยมุตโตทัย เป็นมุตโตทัย
คำนี้ท่านอาจารย์นำมาเป็นปัญหาถามในที่ประชุมพระภิกษุเปรียญหลายรูป ซึ่งมีข้าพเจ้าร่วมอยู่ด้วย
ในคราวที่ท่านมาพักกับข้าพเจ้าที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าทราบความหมายของคำนั้นแล้ว
แต่เห็นว่าเป็นอสาธารณนัย จึงกล่าวแก้ทางใจ ทันใดนั้นท่านก็พูดขึ้นว่าข้าพเจ้าแก้ถูก
ซึ่งทำความประหลาดใจให้แก่ภิกษุทั้งหลายมิใช่น้อย ต่างก็มารุมถามข้าพเจ้าว่า ความหมายว่าอย่างไร? 
ข้าพเจ้าบอกให้ทราบแก่บางองค์เฉพาะที่น่าไว้ใจ

คำว่า มุตโตทัย มีความหมายเป็นอสาธารณนัยก็จริง แต่อาจเป็นความหมายมาเป็นสาธารณนัยก็ได้
จึงได้นำมาใช้เป็นชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ โดยมุ่งให้มีความหมายว่า 
เป็นธรรมเทศนาชี้บอกแนวทางปฏิบัติให้บังเกิดความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ซึ่งถ้าจะแปลสั้นๆ 
ก็ว่า แดนเกิดแห่งความหลุดพ้น นั่นเอง

 ธรรมเทศนาชุดแรกนี้ พระภิกษุวิริยังค์กับพระภิกษุทองคำ เป็นผู้บันทึกในสมัยท่านอาจารย์อยู่จำพรรษา
ณ เสนาสนะป่าบ้านโคกนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และตอนแรกไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ
ตำบลใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้ารับเอาบันทึกนั้นพร้อมกับขออนุญาตท่านอาจารย์พิมพ์เผยแผ่
ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงเสียใหม่ให้เรียบร้อย ตัดส่วนที่ไม่ควรเผยแผ่ออกเสียบ้าง
ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามนั้นทุกประการ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีที่กระเทือนใจผู้อ่านอยู่บ้าง
จึงขอชี้แจงไว้ในที่นี้ คือ ข้อที่ว่า พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว
ย่อมกลายเป็นของปลอมไปนั้น หมายความว่าไปปนเข้ากับอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์เมื่อแสดงออกแก่ผู้อื่น
ก็มักมีอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ ปนออกมาด้วย เพื่อรักษาพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์สะอาดคงความหมายเดิมอยู่ได้
ควรมีการปฏิบัติกำจัดของปลอมคือ อุปกิเลสอันแทรกซึมอยู่ในอัธยาศัยนั้นให้หมดไป
ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของท่านผู้แสดงที่จะชักจูงจิตใจของผู้ฟังให้นิยมในสัมมาปฏิบัติยิ่งๆ
ขึ้นไป ถ้าผู้ฟังมีใจสะอาด และเป็นธรรมแล้วย่อมจะให้สาธุการแก่ท่านผู้แสดงแน่แท้

ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่
พระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส กับ พระภิกษุวัน อุตฺตโม จดบันทึกไว้ในปัจฉิมสมัย
คือระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๒ ก่อนหน้ามรณสมัยเพียงเล็กน้อยนั้น ได้รวบรวมนำมาเรียบเรียงเข้าหมวดหมู่
เช่นเดียวกับครั้งก่อน

 ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์
ทั้ง ๒ ชุดนี้ หาจะพิมพ์เผยแผ่ต่อไป ก็ควรพิมพ์รวมกันในนามว่า มุตโตทัย
และควรบอกเหตุผลและผู้ทำดังที่ข้าพเจ้าชี้แจงไว้นี้ด้วย
จะได้ตัดปัญหาในเรื่องชื่อ และที่มาของธรรมเทศนาด้วย

พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)
เสนาสนะป่าเขาสวนกวาง  จ.ขอนแก่น
๓๑ มกราคม ๒๔๙๓

ซึ่งมีหัวข้อธรรมดังนี้
๑. เรื่อง มูลกรรมฐาน
๒. เรื่อง ศีล
๓. เรื่อง ปาฏิโมกขสังวรศีล
๔. เรื่อง ธรรมคติวิมุตติ
๕. เรื่อง อัจฉริยะ - อัพภูตธรรม
๖. เรื่อง วาสนา
๗. เรื่อง สนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลอุดม
๘. เรื่อง การทำจิตให้ผ่องใส
๙. เรื่อง วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก
๑๐. เรื่อง ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ
๑๑. เรื่อง ได้ฟังธรรมทุกเมื่อ
๑๒. เรื่อง ปริญเญยฺยธรรม
๑๓. เรื่อง บั้นต้นโพธิสัตว์
๑๔. เรื่อง โสฬสกิจ
๑๕. เรื่อง สำคัญตนว่าได้บรรลุอรหัตตผล
๑๖. เรื่อง อุณหัสสวิชัยสูตร

WWW.LUANGPUMUN.ORG