เคลื่อนขบวนไปสู่ความจริง
พฤศจิกายนเป็นเดือนท้ายของฤดูฝน
อุณหภูมิเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่หน้าหนาว ตอนเช้ามี หมอกลงบางเบา
อากาศหนาว ท้องฟ้าโปร่ง แจ่มใสในเวลากลางวัน กลางคืนหนาวเยือกเย็นต้องห่มผ้าหนา
หลายผืน ลมประจำฤดูเริ่มพัดโชยมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือและพัดผ่านลงสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้
อันเป็นการแสดงถึงอาการที่จะเข้าสู่หน้าหนาว พืชไร่ และต้นข้าวในนาของชาวไร่ชาวนา
กำลังแก่ใบเหลือง เป็นสีทอง เมล็ดข้าวในรวงกำลังสุกสกาวเหลืองอร่ามแผ่กระจายไปทั่วทุกท้องนาอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดสาย
หูสายตา น้ำตามตลิ่ง ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ เริ่มหยุดไหล ประชาชนชาวไร่ชาวนาในชนบทกำลังมี
ความหวัง ที่จะได้เก็บเกี่ยวข้าวในนาของตน มองดูใบหน้าและแววตาของแต่ละคน
มีความสดชื่นเป็นประกาย นั่นหมายถึง การทำไร่ทำนาในปีนี้กำลังให้ผลผลิตอย่างเต็มที่
แต่ละคนมีความกระปรี้กระเปร่ากุลีกุจอเตรียม เสาะแสวงหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวข้าวกัน
เช่น เคียวเกี่ยวข้าว ต้องซื้อต้องหา กระบุง ตะกร้า มีด พร้า จอบ เสียม
ตลอดทั้งเตียมถากถางกลางลานนา สำหรับเป็นที่นวดข้าว เป็นต้น เหล่านี้
เป็นวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนาในภาคอีสานทั่วไป
ชาวบ้านหนองผือก็เช่นเดียวกัน
มีความหวังตั้งตารอ ที่จะได้ลงนาเก็บเกี่ยวข้าวกันในเดือนนี้ แต่ก็พะวักพะวนรอฟังข่าวคราวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่อยู่ทางวัดป่าบ้านหนองผือเพราะท่านทราบว่าองค์
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านชราภาพมากแล้ว อาการอาพาธของท่านมีแต่ทรงกับทรุดครูบาอาจารย์ที่อุปัฏฐากท่าน
ก็พยายามช่วยเยียวยารักษาท่านอย่างเต็มที่ มีพระอาจารย์มหาบัวญาณสมฺปนฺโน
พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส และพระอาจารย์วัน อุตฺตโม พร้อมคณะศิษยานุศิษย์ที่เป็นฆราวาสก็ช่วยติดตามหมอชาวบ้าน
ที่เคยเป็นหมอ เสนารักษ์ประจำตำบลมาฉีดยารักษาให้หลายครั้งหลายคราว แต่อาการอาพาธของท่านมีแต่พอทุเลา
แล้วก็ทรุดลง ไปอีกดังที่กล่าวมาแล้ว
เมื่อออกพรรษาแล้วครูบาอาจารย์พระเถระผู้ใหญ่จึงเริ่มทยอยเดินทาง
เข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ เช่น พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์เทสก์
เทสรํงสี พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์อ่อน
ญาณสิริ เป็นต้น หลายครั้งหลายหนจนพระทั่งปลายเดือนตุลาคมขึ้นต้นเดือนพฤศจิกายน
ประมาณวันที่ ๑ หรือ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๒ ข่าวทางวัดกระจายเข้ามาถึงหมู่บ้านและกระจายไปทั่วหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว
ว่า ทางคณะครูบาอาจารย์ท่านได้ตกลงกันว่า จะนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งกำลังอาพาธอยู่
ออกไปจาก บ้านหนองผือในวันพรุ่งนี้
เหตุการณ์นี้ทำให้ญาติโยมชาวบ้านหนองผือ
มีความรู้สึกซึมเซาจนตั้งตัวไม่ติดคิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูกเลยทีเดียว
ภาษาในสมัยใหม่เรียกว่า " ช็อค " เกือบจะทั้งหมู่บ้านจากนั้นความหม่นหมองก็เข้า
มาแทนที่ในดวงจิตของประชาชนชาวบ้านหนองผือ ด้วยความว้าวุ่นขุ่นมัวตลอดมา
จะพากันคิดพิจารณาทัดทาน ขอร้องไม่ให้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ออกไปจากบ้านหนองผือก็ทำไม่ได้
เพราะด้วยความเคารพศรัทธา เลื่อมใสในครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ด้วยจะนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ
บางท่านก็มีความเห็นว่า
ที่อยากจะให้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ออกจากบ้านหนองผือเพื่อไปรักษา
ตัวที่วัดป่าสุทธาวาส เพราะอยู่ในตัวจังหวัดการหมอการแพทย์ทันสมัยกว่า
ความเจริญทางการแพทย์กำลังเข้าสู่ตัวจังหวัดสกลนคร การเยียวยารักษาคงจะแน่นอนขึ้น
บางท่านก็มีเหตุผลว่า องค์ท่าน พระอาจารย์เคยปรารภถึงโยมแม่นุ่มในทำนองยกย่องอยู่เสมอ
ๆ ในครั้งที่องค์ท่านเริ่มอาพาธใหม่ ๆ ตอนในพรรษา ชะรอยองค์ท่านคงจะต้องการให้นำท่านไปวัดป่าสุทธาวาสเพื่อจะได้โปรดโยมแม่นุ่ม
ซึ่งเคยอุปการะต่อครูบาอาจารย์ สายวัดป่ากัมมัฏฐานเป็นครั้งสุดท้ายเลยถือเป็นเหตุอ้างในการตกลงนำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส
บ้างก็มีเหตุผลที่มองการณ์ไกลออกไปอีกว่า
การอาพาธของท่านพระอาจารย์ใหญ่ของเราในคราวนี้ คงเป็นครั้งสุดท้าย จะเอายาอะไรมาเยียวยารักษาก็คงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เพราะองค์ท่านพระอาจารย์
ท่านพูดอยู่เสมอๆ ว่า " เอาน้ำมารดไม้แก่นล่อน ให้มันป่งเป็นใบ สิมีหรือ
" ( เป็นคำถิ่นอีสาน หมายความว่า จะเอาน้ำมารดต้นไม้ที่ตายยืนต้นเหลือแต่แก่นให้ผลิดอกออกใบอีกนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
) เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่าองค์ท่านพระอาจารย์จะต้องจากพวกเราไปอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นหากท่านมรณภาพที่บ้านหนองผือ แล้ว จะมีเหตุขัดข้องหลายอย่างหลายประการ
ผู้คนประชาชนก็จะมามาก หนทางไปมาก็ไม่สะดวก ตลาดก็ไม่มี เกรงว่าจะเป็นเหตุให้สัตว์ตายในงานนี้เป็นจำนวนมาก
เขาจะฆ่าทำอาหารสำหรับเลี้ยงแขกที่มาในงานถ้ามรณภาพ ที่วัดป่าสุทธาวาส
ก็มีตลาดเขาทำกันอยู่แล้ว
จากนั้นท่านพระอาจรย์มั่จึงพูดว่า
"รอให้ผู้ใหญ่มาเกิ่น ผู้ใหญ่เพิ่นสิว่าจั่งใด" ผู้ใหญ่ในที่นี้คงจะ
หมายถึงพระอาจารย์เทสก์ เทสรํงสี เพราะเมื่อท่านพระอาจารย์มั่นพูดได้ไม่นานก็พอดีเป็นจังหวะที่พระอาจารย์
เทสก์เข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือในวันนั้น
หลังจากนั้นข่าวการจะหามท่านพระอาจารย์มั่น
ออกจากบ้านหนองผือก็เป็นความจริงการดำเนิน การหามจึงเริ่มขึ้น คือการเตรียมอุปกรณ์ในการหาม
โดยป่าวร้องให้ประชาชนชาวบ้านหนองผือช่วยกันจัดหาแคร่ไม้ โดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ
ตัดยาวประมาณ ๒ วา ๔ ลำ เชือกอีกประมาณ ๘ เส้น และผ้าขาวสำหรับมุงหลังคากันแดด
ประกอบกันเข้าทำเหมือนประทุนเกวียนเมื่อทำแน่นหนามั่นคงเรียบร้อยจึงเก็บเตรียมไว้
พอเช้าวันรุ่นขึ้นฉันจังหันเสร็จ พระเณรก็ไปที่กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น
เพื่อจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้อัฐบริขารที่จำเป็นต้องนำไปด้วย
เมื่อพระเณรจัดเก็บอัฐบริขารที่จำเป็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ผู้มีหน้าที่หามก็หามแคร่ไม้ที่ทำเสร็จแล้วนั้นไปตั้งที่หน้ากุฏิท่าน
แล้วพระเณรจึงเข้าไปกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่นเพื่อจะได้นำองค์ท่านขึ้นแคร่หามที่เตรียมไว้
เมื่อท่านทราบท่านพระอาจารย์มั่นนิ่งไม่ว่าอะไรพระเณรทั้งหลายถือเอาอาการนั้นว่า
ท่านรับอาราธนาหรืออนุญาตแล้ว ดังนั้นพระเถระและพระอุปัฏฐากจึงขอโอกาสเข้าไปประคองท่านพระอาจารย์ให้ลุกขึ้น
แล้วประคองพาเดินลง จากกุฏิไปยังแคร่หาม
ในตอนนี้ผู้คนประชาชนกำลังทยอยกันมาเป็นจำนวนมาก
ตลอดทั้งพระเณรและผู้ที่จะนำส่งท่าน ก็เตรียมพร้อมแล้ว สำหรับโยมผู้ชายที่แข็งแรงเป็นผู้หามก็เข้าประจำที่
เมื่อได้เวลาจึงให้สัญญาณว่าพร้อมแล้ว ทั้งหมดจึงพากันยกคานหามขึ้นบ่าแล้วออกเดินทางโดยบ่ายหน้าไปทางทิศจะวันตกของวัด
และเดินตามถนนไปสู่ทางออก ประตูวัด ผู้คนประชาชนพร้อมทั้งพระเณรก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนตามขบวนหามไป
แต่ละท่านแต่ละคนเงียบกริบ ไม่มีเสียงพูดจากันบ้างก็ช่วยสะพายบาตรพระ
บ้างก็ช่วยถืออัฐบริขาร บ้างก็เดินสะพายถุงและย่าม ตามไป เอาใจช่วยเป็นกำลัง
บ้างก็ช่วยแบกกลดและร่ม บ้างก็ถือกระติกน้ำร้อนและน้ำเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเดินทาง
ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่หามก็ขะมักเขม้น เดินไปอย่างขยันขันแข็ง จนกระทั่งผ่านประตูวัดออไป
แล้วลงสู่ทุ่งนาอันกว้าง ไกลพอสมควร ซึ่งในระหว่างทุ่งนามีสะพานทำด้วยไม้กว้างประมาณ
๑.๘๐ เมตร ทอดยาวดิ่งจากฝั่งทุ่งนาด้านนี้ ไปจรดทุ่งนาด้านโน้นเป็นระยะทางประมาณ
๓๐๐ เมตร กระดานพื้นสะพานทำด้วยไม้ตะเคียนเลื่อยผาเป็นแผ่น แต่ละแผ่นกว้างประมาณ
๙๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร ปูเรียงคู่สองแผ่นต่อกันไปจนสุดสายทางข้ามทุ่งนา
การหามท่านพระอาจารย์มั่นก็หามไปตามสะพานนี้
จนผ่านพ้นสะพานแล้วมุ่งขึ้นสู่ถนนกลางหมู่บ้าน หนองผือ ในช่วงที่ผ่านหมู่บ้านนี้มีผู้คนประชาชนเด็กเล็กพากันชะเง้อชะแง้มองดูพอรู้ว่าเป็นขบวนหามท่าน
พระอาจารย์ใหญ่ พวกเขาก็มุ่งเข้ามาดูใกล้ๆ ตามขอบข้างทางเป็นแถวบางคนนั่งพนมมือ
และบางคนก็นั่งคุกเข่า พนมมือกราบเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยความอาลัยอาวรณ์สุดเสียดายจนขบวนหามผ่านเลยไปและผ่านพ้นหมู่บ้าน
มุ่งเข้าสู่ทางเกวียนที่จะไปบ้านห้วยบุ่นซึ่งเป็นช่องทางเกวียน ลุลอดเลี้ยวไปมาตามใต้ดงหนา
ป่าทึบอันเขียวครึ้มขจีเต็ม ไปด้วยแมกไม้ต่างๆ นานาพรรณ ทั้งเสียงนกตัวจบอยู่บนยอดกิ่งไม้สูงส่งเสียงร้อง
โพระดก โกโต้ง โกโต้ง ก้องกังวาลไพรไปไกลทั่ว ตลอดทั้งตามรายทางก็มีเสียงแมลงป่าเรไรซึ่งจับอยู่บนต้นไม้ทั่วไปร้องกรีดกริ่งคล้าย
เสียงกระดิ่งวัว เมื่อขบวนหามผ่านเข้าไปใกล้มันก็หยุดร้อง คอยสังเกตุดูจนขบวนหามนั้นผ่านเลยไป
เห็นว่า ไม่เป็นภัยแล้วมันก็ร้องขึ้นมาใหม่ เป็นอย่างนี้จนทะลุเข้าสู่ละแวกบ้านห้วยบุ่น
ซึ่งเป็นหมู่บ้านของคนเผ่าข่าหรือ พวกโซ่
เมื่อขบวนหามผ่านบ้านห้วยบุ่นแล้ว
เลยลุลงมาสู่ทุ่งนาอีกครั้ง ซึ่งเป็นร่องน้ำซับจนกระทั่งผ่านไปได้ จึงขึ้น
สู่ทางเกวียนอันเป็นเนินและลุ่ม สุงๆ ต่ำๆ บางทีก็คดโค้งทอดยาวไปเลี้ยวซ้ายแลเลี้ยวขวาตามต้นไม้สูงใหญ่
เป็นเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงจึงถึงอีกหมู่บ้านหนึ่งคือบ้านนาเลา ขบวนไม่ได้หยุดพักในหมู่บ้านนี้ได้หามผ่านเลยออกไป
จนถึงคลองน้ำซับซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนี้เท่าใดนัก ที่นั่นมีบ่อน้ำเล็กๆ
อยู่ริมคลอง น้ำซับและมีน้ำบ่อไหลออกมาใสเย็น สะอาดบริเวณใกล้ๆ เป็นเนินร่มรื่นซึ่งใช้เป็นที่หยุดพักของคนเดินทางไปมา
เมื่อขบวนหามท่านพระอาจารย์มาถึง ตรงนั้นจึงตกลง พากันหยุดพักเหนื่อยเสียก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไป
ผู้ที่หามแคร่ตลอดทั้งญาติโยม พระเณร เมื่อเห็นว่าวางแคร่หามท่านพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว
ต่างก็นั่งพักเหนื่อย เอาแรงตามใต้ร่มไม้ต่างๆ ใกล้บริเวณนั้น บ้างก็ไปตักน้ำในบ่อด้วยครุหรือกระป๋องมาแจกจ่ายผู้ที่หามแคร่และญาติโยมที่ตามไปในขบวนให้ได้ดื่ม
กินจนอิ่มหนำสำราญโดยทั่วกัน
คราวนี้ขบวนหามออกเดินทางเป็นระยะทางที่รู้สึกว่าไกลพอสมควร
หามเดินไปตามทางล้อเกวียนของ ชาวไร่ชาวนา ที่สัญจรไปมาในหมู่บ้านรายทางละแวกนั้น
บางช่วงก็เดินตัดลัดเลาะเลียบตามเชิงเขาภูพาน แล้วจึง โค้งไปทางหมู่บ้านโคกะโหล่ง
หรือปัจจุบันเรียกบ้านคำแหว ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร แต่ก็เลยผ่านออกจากหมู่บ้าน
มุ่งสู่ทางเดินเท้าของชาวบ้านละแวกนั้นโดยไม่ได้หยุดพัก
หน้าต่อไป >