ความเป็นมาของวัดป่าบ้านหนองผือ
  ไปยังหน้า : [ 1 | 2 | 3 | หน้าหลัก ]


เมตตาธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
ช่วง ๕ พรรษาสุดท้าย ณ วัดป่าบ้านหนองผือ

โดยพระครูสุทธธรรมาภรณ์ ( พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ )
เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตถิราวาส ( วัดป่าบ้านหนองผือ ) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
จากหนังสือ " บูรพาจารย์ " พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๔

ความเป็นมาของวัดป่าบ้านหนองผือ

        วัดป่าภูริทัตตถิราวาสหรือวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นวัดที่สำคัญมากวัดหนึ่งในสายวัดป่ากัมมัฏฐาน ซึ่งถ้าดูตามแผนที่วัดนี้จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดสกลนคร และตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอพรรณานิคม แต่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้านหนองผือ เริ่มแรกสถานที่แห่งนี้เป็นป่าพงดงดิบ อันเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์นานาชนิด เป็นต้น มี เสือ หมี อีเก้ง กวาง หมูป่า สัตว์เลื้อยคลาน มีแลนและงูชนิดต่าง ๆ สัตว์ปีกมีนกเกือบทุกชนิด นอกจากนั้นยังชุกชุมไปด้วยเชื้อไข้ป่ามาลาเรียเป็นอันมาก

         ต่อมาสถานที่แห่งนี้มีผู้เข้าไปหักร้างถางพง ทำเป็นไร่ปลูกพริกปลูกฝ้าย แล้วจับจองหมายเอาเป็นที่ของตนเองบางคนจับจองแล้วทำไม่ไหวก็ปล่อยทิ้งให้รกร้างอยู่เป็นเวลานานหลาย ๆ ปีบ้าง จนป่าเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะที่ป่าสมัยนั้นมีเป็นจำนวนมาก จะเลือกจับจองหมายเอาที่ป่าตรงไหน ที่ตนชอบใจก็ย่อมได้หากใครมีกำลังพอ มีมากจนทำเป็นไร่ปลูกพริกปลูกฝ้ายไม่หวาดไม่ไหว ภายหลัง พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ท่านธุดงค์หาที่วิเวกอยู่แถวบริเวณนี้ ต้องการที่จะสร้างที่พักสงฆ์สักแห่งหนึ่งที่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากนัก

พระอาจารย์หลุย
จนฺทสาโร

         เมื่อท่านหาที่พักสงฆ์ชั่วคราวได้แล้ว ก็มีพระภิกษุสามเณรเดินธุดงค์สัญจรผ่านไปมาเข้าพักพิงพึ่งพาอาศัยอยู่ไม่ขาดสาย มาภายหลังสถานที่แห่งนี้จึงได้กลายเป็นที่พักสงฆ์และสำนักสงฆ์ถาวรตามลำดับ จนกระทั่งได้พัฒนามาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ ตอนแรกให้ชื่อว่า “วัดสันติวนาราม” ต่อมาหลังจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร มรณภาพแล้ว (พ.ศ. ๒๔๙๒) พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโร) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลในเขตนี้ และเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่าน พระอาจารย์มั่นด้วย ได้เล็งเห็นความสำคัญในสถานที่แห่งนี้อันเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่น เคยพำนักจำพรรษาอยู่เป็นเวลาถึง ๕ ปีติดต่อกัน ท่านจึงดำริให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เชิดชูบูชาคุณให้สอดคล้องกับนามฉายาของท่านพระอาจารย์มั่น อันเป็นมงคลนามว่า “วัดภูริทัตตถิราวาส” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

          วัดนี้ได้ตั้งขึ้นเป็นวัดโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งได้รับอนุญาตเอกสารสิทธิ์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๙๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ พร้อมกับได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีเดียวกันมีเจ้าอาวาสปกครองมาแล้ว ๖ รูป มีรายนามดังต่อไปนี้
๑. พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๘๓
๒. พระใบ (ไม่ทราบฉายา) พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๗
๓. ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๒
๔. พระทองคำ ญาโณภาโส พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๗
๕.พระจันทา เขมาภิรโต พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๒๑
๖. พระสอน ญาณวีโร พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๓๓
๗. พระอธิการพยุง ชวนปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๓๓ – ปัจจุบัน

         กิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่ปฏิบัติมาภายในวัดคือ ถือเอาวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันจัดงานน้อมบูชา แสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณกับท่านพระอาจารย์ ซึ่งป็นวันคล้ายวันมรณภาพของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ผู้เป็นบูรพาจารย์ หรือบิดาแห่งพระกัมมัฏฐานในยุคปัจจุบันของศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้น้อมรำลึกถึงปฏิปทาข้อวัตร และจริยวัตร ที่ท่านได้ดำเนินมาเป็นแบบอย่างอันดีงามในการประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่าน เพื่อความสงบสุขร่มเย็นและเป็นการสร้างกุศลเพิ่มพูนบารมีธรรมของตนสืบไป

ก่อนมาเป็นวัดป่าบ้านหนองผือ

         เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ท่านเป็นคนจังหวัดเลยได้เดินธุดงค์หาความสงบวิเวกอยู่แถบบริเวณหุบเขาภูพานแห่งนี้ ต่อมาชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า ท่านพำนักทำความเพียรปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำพระ บ้างหนองสะไน ซึ่งไกลจากบ้านหนองผือประมาณ ๑๕ กิโลเมตร

         ขณะที่ท่านพักอยู่ ณ ถ้ำแห่งนี้ ท่านได้ปรุงยาหม้อใหญ่ไว้สำหรับฉันแก้โรคเหน็บชาหมายความว่าท่านปรุงยาแก้โรคเหน็บชา ซึ่งหาตัวยารากไม้หลายชนิดเอาลงไป หมักดองไว้ในไห โดยเอาน้ำเยี่ยววัวดำตัวผู้ที่ต้มสุกแล้วทำเป็นน้ำกระสายหมักดองไว้ เป็นเวลาสักสองอาทิตย์ จึงตักน้ำดองนั้น มาฉันแก้โรคเหน็บชาได้ ตอนนั้นชาวบ้านหนองผือเป็นโรคเหน็บชากันหลายคน และได้ทราบข่าวมาว่ามีพระกัมมัฏฐาน ปรุงยาแก้โรคเหน็บชา แจกให้แก่ญาติโยมเอาไปกิน หายกันหลายคนแล้ว ดังนั้น ชาวบ้านหนองผือจึงพากันไปขอยาจากท่าน

          แต่ก่อนที่ท่านจะให้ยาไปกินนั้น ท่านจะให้ธรรมะและสอนธรรมะไปด้วย เป็นต้นว่า ให้ภาวนา “พุทโธ” เพื่อจะให้ละทิ้งจากแนวทางที่ผิด คือ มิจฉาทิฏฐิ มีการถือผิด ถือผี เลี้ยงผีบวงสรวง อ้อนวอน ผีฟ้าผีภูตา ต่าง ๆ เหล่านี้ ให้กลับมาถือไตรสรณคมน์ มี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อย่างมั่นคง แล้วสมาทานรักษาศีลห้า ศีลอุโบสถในวันขึ้น – แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และตอนตื่นนอนหรือก่อนนอน ทุกเช้าค่ำ ท่านให้ทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระ กราบพระเสียก่อนจึงนอนหรือออกจากห้องนอน ตลอดจนท่านห้ามไม่ให้กินเนื้อดิบ ของที่จะกินที่เป็นเนื้อทุกชนิดต้องทำให้สุกเสียก่อนจึงจะกิน นอกจากนั้นก็ให้งดเว้นมังสะเนื้อสิบอย่าง (พระพุทธเจ้าทรงห้ามบริโภคเนื้อ ๑๐ อย่าง คือ เนื้อมนุษย์ เสือโคร่ง เสือดาว เสือเหลือง ช้าง งู ราชสีห์ สุนัข ม้า หมี) ตามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้นั้นด้วย

          เมื่อท่านสอนสิ่งเหล่านี้แล้วจึงให้ยาไปกิน เมื่อญาติโยมชาวบ้านหนองผือนำยานั้นไปกิน โรคเหน็บชาก็หายกันทุกคน จึงทำให้ญาติโยมชาวบ้านหนองผือเกิดความเชื่อถือ ความเลื่อมใสศรัทธาในท่านมาก บางคนก็กลับไปขอยาจากท่านอีกเมื่อยาหมดแล้ว พร้อมทั้งได้มีโอกาสฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านด้วย ไปมากันอยู่อย่างนี้หลายครั้งหลายหน และหลายคณะ จนทำให้ญาติโยมชาวบ้านหนองผือกับพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร มีความคุ้นเคยสนิทสนมกันและได้ติดต่อกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ยังได้เดินธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวก อยู่ในแถบบริเวณเชิงเขาภูพานแห่งนี้เป็นเวลานาน เมื่อท่านออกจากที่พักสงฆ์ถ้ำพระ บ้านหนองสะไนแล้ว ท่านก็เดินธุดงค์ต่อมายังบ้านหนองผือพักอยู่ที่ป่าซึ่งเป็นที่ดอนใกล้เถียงนาของโยมคนหนึ่ง อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้างหนองผือ ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักญาติโยมเมื่อทราบว่าพระอาจารย์หลุย เดินทางมาพักปักกลดอยู่ที่นี่ ต่างก็มากราบนมัสการท่านพร้อมถวายจังหันในตอนเช้าด้วยความเคารพศรัทธายิ่ง เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันมาก่อน ท่านจึงพูดคุยสนทนาสอบถามเรื่องสุขทุกข์ต่าง ๆ ด้วยความเมตตาและพูดเรื่องพอให้เป็นที่รื่นเริงใจแก่ญาติโยมที่มานมัสการท่านด้วยพอสมควร

          ท่านพักอยู่ที่แห่งนี้เป็นเวลานานหลายเดือน ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่นี่ท่านพยายามอบรมสั่งสอนญาติโยม ให้ได้รับรู้เรื่องราวข้อวัตรปฏิบัติต่อพระกัมมัฏฐานหลายอย่างหลายประการ ท่านเริ่มสอนตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เสียก่อน เป็นต้นว่า การประเคนของพระให้ได้ระยะหัตถบาส (บ่วงมือ คือที่ใกล้ตัว ประมาณศอกหนึ่งในระหว่าง หมายถึงที่สุดด้านหน้าของภิกษุกับสิ่งของหรือของภิกษุผู้รับกับบุคคลผู้ประเคนเป็นต้น) และด้วยความเคารพ การทำกัปปิยะ (กัปปิยะ : ทำให้สมควร ควรแก่สมณะบริโภค หมายถึง การถวายอาหารที่เป็นพืช ผัก ผลไม้ ก่อนประเคนต้องทำให้ขาดจากกันโดยผู้ถวายต้องเด็ด หรือใช้มีดกรีดสิ่งนั้น เพื่อไม่ให้งอกหรือนำไปปลูกได้) ของฉันที่เป็นภูตคาม (ภูตคาม ของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเป็นอยู่กับที่) พีชคาม (พีชคาม ของเขียว หรือพืชพันธุ์อันถูกพรากจากที่แล้ว แต่ยังจะเป็นได้อีก) ต่าง ๆ ถวายพระและสอนให้รู้จักประเพณีปฏิบัติอุปัฏฐากต่อพระกัมมัฏฐานที่สัญจรไปมา ตลอดทั้งการสอนให้ท่องคำไหว้พระสวดมนต์ทั้งเช้าและเย็น พร้อมทั้งให้ฝึกนั่งสมาธิภาวนาเดินจงกรมด้วย ทุกขั้นตอนของการสอน ท่านจะแนะนำให้ดูก่อนทุกครั้ง จนทำให้ญาติโยมมีความสนใจในการฝึกอบรมธรรมกับท่านมากที่สุด ญาติโยมมีความเข้าใจและทำได้คล่องแคล่วมากขึ้น

          แม้ในการสอนเรื่องอื่น ๆ เช่น การเย็บเสื้อขาวด้วยมืออย่างนี้ท่านก็สอน อันนี้ท่านเย็บเป็นเสื้อสำเร็จรูปแล้วจึงให้นำเอาไปเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่จะฝึกเย็บตาม โดยมากท่านจะให้โยมผู้หญิงที่ชรานำไปเย็บ ผ้าที่ท่านได้มานั้น ได้มาจากผ้าบังสกุลบ้าง ได้จากบ้านที่เขาทำบุญบ้าง สำหรับเสื้อที่ท่านเย็บเองเสร็จแล้ว ท่านจะบริจาคให้คนเฒ่าคนแก่ ที่อัตคัดยากจนที่สุดในหมู่บ้านหนองผือ (ซึ่งสมัยนั้น อยู่ในช่วงสงคราม เมืองไทยขาดแคลนเสื้อผ้ามาก)

         ท่านพักอยู่ที่นี่เป็นเวลานานพอสมควร จนมีความสนิทสนมกับชาวบ้านเป็นอย่างมากต่อมาท่านใคร่อยากจะตั้งที่พักสงฆ์ขึ้นสักแห่งหนึ่ง จึงตกลงให้ญาติโยมพาตระเวน ค้นหาสถานที่ที่จะตั้งที่พักสงฆ์ใหม่ ค้นหาดูทั่วทั้งทิศเหนือ ทิศใต้ และทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน แต่ยังไม่เป็นที่เหมาะสมและถูกใจของท่าน จึงให้ญาติโยมค้นหาอีกทีทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ในที่สุดก็ได้ที่ที่เหมาะสม ถูกลักษณะและถูกใจท่านด้วย โดยเฉพาะที่ดินตรงนี้(ที่เป็นวัดป่าบ้านหนองผือในปัจจุบันนี้) เดิมเป็นที่ดินโยมชื่อ พ่อออกต้น โพธิ์ศรี และครอบครัว มีศรัทธามอบถวายที่ดินให้เป็นที่พักสงฆ์แด่พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ท่านจึงพาคณะญาติโยมย้ายจากที่เดิม ไปที่จะตั้งสำนักใหม่ เมื่อย้ายไปถึงแล้วจึงพากันสร้างกระต๊อบพร้อมทั้งหอฉันชั่วคราวขึ้น ซึ่งหลังคามุงด้วยหญ้าคาฝาแนบด้วยใบตอง พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ ทำเป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราวก่อน เสร็จแล้วท่านก็ได้อยู่พักทำความเพียรตามอัธยาศัยของท่าน และอบรมธรรมะสั่งสอนญาติโยมมาเรื่อย ๆ ดังที่ท่านเคยประพฤติปฏิบัติมาจนได้ระยะหนึ่งพรรษา

          เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็เดินธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ ออกไปจำพรรษาในที่แห่งอื่นบ้าง บางครั้งท่านก็เข้ามาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านหนองผืออีก ไป ๆ มา ๆ อยู่อย่างนี้ ส่วนมากจะอยู่หมู่บ้านแถบบริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้านหนองผือ เช่น ที่พักสงฆ์ถ้ำพระนาใน ที่พักสงฆ์ถ้ำพระบ้านหนองสะไน ที่ป่าช้าบ้านกลาง ที่ป่าบ้านกุดไห ที่ป่าดอนใกล้บ้านอูนดง ป่าใกล้บ้านห้วยบุ่น และย้อนกลับมาที่สำนักบ้านหนองผือ คราวนี้ท่านพักอยู่เป็นเวลานาน ณ สถานที่แห่งนี้นี่เอง ต่อมาจึงได้กลายเป็นวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดภูริทัตตถิราวาส ชื่อที่เรียกเป็นทางการในปัจจุบัน) ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์สามเณรเดินธุดงค์ เข้าไปหาความสงบวิเวกไม่ขาดสาย

         เมื่อชาวบ้านญาติโยมสมัยนั้นเห็นว่า มีพระภิกษุสงฆ์สามเณรไปมา เข้าพักอาศัยไม่ขาดระยะและมากยิ่งขึ้น จึงเกิดมีศรัทธาแรงกล้าพร้อมใจพากันสร้างศาลาถาวรขึ้นหลังหนึ่ง ซึ่งทำด้วยไม้ทั้งหลัง ที่พวกเราท่านทั้งหลายเห็นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลาโรงธรรมหลังใหญ่ ณ วัดป่าบ้านหนองผือในขณะนี้

          พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกับชาวบ้านหนองผือเป็นอย่างมาก จนถือได้ว่าท่านเป็นทั้งพ่อแม่และครูบาอาจารย์องค์แรก ที่ได้เข้าไปสั่งสอนชาวบ้านหนองผือให้ได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ อันเกี่ยวกับหลักธรรมและข้อประพฤติปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวบ้านมาก แม้แต่เด็กสมัยนั้นพอรู้จักจำชื่อได้ก็รู้จักชื่อท่านทุกคน เพราะสมัยนั้นบ้านหนองผือยังเป็นหมู่บ้านห่างไกลความเจริญมากซึ่งมีเทือกเขาภูพานกั้นระหว่างหมู่บ้านกับตัวอำเภอ อาจกล่าวได้ว่าตัดขาดจากโลกภายนอกเลยทีเดียว และเป็นหมู่บ้านที่ไม่ใหญ่โตนักมีประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน เมื่อมีพระภิกษุสามเณรหรือผู้คนต่างถิ่นผ่านเข้าไปพึ่งพาอาศัย ทำความคุ้นเคยใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวบ้านแล้ว พวกเขาจะให้เกียรติ จำชื่อบุคคลนั้นได้ดี และนับถือบุคคลนั้นด้วย ดังนั้นพระอาจารย์หลุยจึงเป็นชื่อที่ชาวบ้านหนองผือ ให้ความเคารพบูชามากที่สุดรูปหนึ่ง

หน้าต่อไป >

WWW.LUANGPUMUN.ORG