เบื้องหลังการจัดทำหนังสือ "วรลาโภ ผู้ให้ธรรมประดุจดั่งพรอันประเสริฐ"

ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุธรรมคณาจารย์ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ตามรอยหลวงปู่เหรียญสู่ภาคเหนือ(3)



ตามรอยหลวงปู่เหรียญสู่ภาคเหนือ
(ตอนที่ 3 เวียงพร้าวดินแดนมหัศจรรย์)


มุ่งสู่อำเภอพร้าว

จากวัดป่าอาจารย์ตื้อ พวกเราก็เดินสู่อำเภอพร้าว ตามเส้นทางถนนสายเชียงใหม่-พร้าวที่จะต้องขึ้นเขา และลงไปในแอ่งซึ่งสภาพอำเภอพร้าวถูกโอบล้อมด้วยทิวเขา กว่าจะผ่านทิวเขาเหล่านี้ไปได้ จนถึงจุดหมายแรกก็ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง จากการสังเกตดูจากโบราณสถานทำให้ประมาณได้ว่า ภายในอำเภอพร้าวน่าจะเป็นเมืองโบราณที่เจริญรุ่งเรืองมาในอดีต คงเป็นช่วงหลายร้อยปีมาแล้ว ตามทิวเขาเหล่านี้จะมีวัดเก่าแก่ตั้งอยู่มากมาย แต่ปัจจุบันกลับเป็นอำเภอที่สงบเงียบ ทิวเขาเหล่านี้ครูบาอาจารย์ในสายหลวงปู่มั่น ล้วนแต่เคยมาออกวิเวกแล้วทั้งสิ้น

พอผ่านทิวเขาสัมผัสพื้นราบของอำเภอพร้าว เราก็เห็นทางแยกไปสู่วัดดอยแม่ปั๋ง และดอยแม่ปั๋งซึ่งมีเจดีย์ของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ กับหลวงปู่หนู สุจิตฺโต แทรกอยู่ท่ามกลางยอดไม้ ผ่านไประยะหนึ่งก็จะพบ วัดเจติยบรรพต บ้านโหล่งขอด ซึ่งพระอาจารย์ที่มาด้วยกันเล่าว่า วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านได้รับผลสำเร็จสูงสุดในพระพุทธศาสนา (ปฏิเวธ) จบภพจบชาติ ณ สถานที่นี้ครับ

วัดป่าอาจารย์มั่น บ้านแม่กอย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่


ทางเดินจงกรมหลวงปู่มั่น

และเราก็ถึงจุดหมายแรกในอำเภอพร้าว คือที่วัดป่าอาจารย์มั่น วัดแห่งนี้หลวงปู่มั่นเคยมาจำพรรษา โดยมีหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท เป็นพระอุปัฏฐาก มีอนุสรณ์ก็คือทางเดินจงกรมของหลวงปู่มั่น ที่นำอิฐโบราณมาปูเป็นสัญลักษณ์


พระบูรพาจารย์เจดีย์

ในปี พ.ศ. 2481 หลวงปู่เหรียญได้รับมอบหมายจากหลวงปู่มั่น ให้มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์บ้านแม่กอย ( ต่อมาคือวัดป่าอาจารย์มั่น ) เป็นเวลา 1 พรรษา

ในปัจจุบันมีถาวรวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจดีย์บูรพาจารย์ กับกุฏิหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโนที่ท่านได้มาพักตอนที่ทางวัดถวายผ้าป่าช่วยชาติ

ในการเดินทางครั้งนี้ยังได้รับการอนุเคราะห์จากพระอาจารย์วิชิต โสภโณ เจ้าอาวาส ท่านได้เมตตานำทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในอำเภอพร้าวอีกด้วย ตอนที่พวกเราอยู่ที่วัด โยมได้นำน้ำเสาวรสมาเลี้ยง ชื่นใจมาก
     
 
**************
 
วัดพระธาตุขุนโก๋น อ.พร้าว จ.เชียงใหม่



ออกเดินทางจากวัดป่าอาจารย์มั่นแล้วรถของพวกเราก็มาหยุดลงที่ วัดพระธาตุขุนโก๋น ซึ่งครูบาอาจารย์มักเรียกว่าพระธาตุแม่โกน หลวงปู่เหรียญเคยมาพักภาวนาภายหลังออกพรรษาปี 2481 ที่วิหารคดหน้าพระธาตุ กับพระอาจารย์เนียม ซึ่งหลวงปู่ได้เล่าไว้ในประวัติว่าทั้งหลวงปู่และพระอาจารย์เนียมได้พบความแปลกในขณะที่ภาวนาอยู่ที่วัดนี้


สอบถามข้อมูลจากเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ( องค์นั่งข้างล่าง )

วัดพระธาตุขุนโก๋น เป็นวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่งดงามมาก เป็นภูเขาลูกเล็กๆ มีลำห้วยเล็กๆ ผ่านอยู่บริเวณเชิงเขา รอบๆ เป็นที่นาและหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็นวัดของคณะสงฆ์มหานิกาย ตอนที่พวกเราไปถึงในวัดมีการถือศีลปฏิบัติธรรมกันอยู่

พระอาจารย์เนียมที่ได้ไปภาวนากับหลวงปู่เหรียญ ท่านรูปนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นพระอาจารย์องค์เดียวกับที่มรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองผือ ในช่วง 5 พรรษาสุดท้ายที่หลวงปู่มั่นจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือและหลวงปู่มั่นได้ทำศพให้ตามแนวทางพระกรรมฐาน

อ่าน เรื่องศพที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาปฏิบัติ

และ ประวัติพระอาจารย์เนียม
 
*************************************
 
วัดพระธาตุดอยพระเจ้า อ.พร้าว จ.เชียงใหม่



แล้วเราก็ไปกันต่อที่ วัดพระธาตุดอยพระเจ้า ที่นี่หลวงปู่เหรียญท่านได้พักภาวนากับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร บนดอยมีกลุ่มหินปูน พบว่าบนหินปูนเหล่านี้มีรอยคล้ายเท้าสัตว์และยังมีบางรอยที่มีลักษณะคล้ายรอยพระพุทธบาทอีกด้วย



ท่านเจ้าอาวาสยังได้มอบรูปบนดอยในตอนที่ท่านขึ้นมาพัฒนาใหม่ๆ เป็นรูปประวัติศาสตร์ ซึ่งคาดว่าในสมัยที่หลวงปู่ขึ้นมาภาวนา สภาพในสมัยนั้นน่าจะใกล้เคียงกับในภาพนี้
 
******************
 
วัดพระธาตุดอยนโม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่



ที่สุดท้ายในอำเภอพร้าวเราก็ไปกันที่วัดพระธาตุดอยนโม ตั้งอยู่บริเวณบ้านทุ่งบวกข้าว หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ขาว เคยมาพักภาวนา



ปัจจุบันวัดพระธาตุดอยนโม เป็นสำนักที่มีแม่ชีอยู่ประจำ บริเวณที่เชื่อกันว่า เป็นสถานที่ที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว ได้เคยมาปักกรด ได้มีการสร้างเป็นแท่นศิลาแลงไว้เป็นสัญลักษณ์ ภายในวัดยังเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ก่อนจะเข้าวัดยังต้องขับรถข้ามลำห้วยใหญ่ด้วย

เสร็จภารกิจในอำเภอพร้าวแล้ว ก็ไปส่งท่านเจ้าอาวาสวัดป่าอาจารย์มั่นที่วัด สถานที่หลายๆ แห่งในอำเภอพร้าวนี้เหมือนกับเป็นตำนานที่ยาวนาน อ่านเจอแต่ในหนังสือ นึกสภาพสถานที่จริงไม่ออก และการถ่ายภาพออกมาเผยแพร่ก็มีน้อย การเดินทางในครั้งนี้ก็เหมือนกับการเปิดตำนานและไขข้อสงสัยของพวกเราอีกหลายอย่าง แล้วก็กลับมาพักที่วัดสันติธรรมในเมืองกันต่อ คืนนั้นพระอาจารย์มหาฉลองได้เมตตาให้ดูไฟล์ภาพวัดสันติธรรมในยุคก่อตั้ง อีกทั้งรูปครูบาอาจารย์เก่าๆ ให้นำมาใช้ประกอบในหนังสือเล่มนี้

โปรดติดตามตอนต่อไป
ตามหาวัดในตำนานที่สันกำแพง
 
*******************************

<หน้าก่อน กลับไปหน้า บทความ หน้าถัดไป>
ขอเชิญลงนามและร่วมอนุโมทนาในสมุดเยี่ยม ที่นี่

จัดทำโดย : คณะศิษยานุศิษย์ พระเดชพระคุณ พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เริ่มจัดทำเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๕๒
ขอขอบคุณ คุณกิตติวัฒน์ มโนสุทธิ ผู้ให้การสนับสนุนเ็วบไซต์
E:Mail : luangpurian@mail.com http://www.luangpurian.com