เบื้องหลังการจัดทำหนังสือ "วรลาโภ ผู้ให้ธรรมประดุจดั่งพรอันประเสริฐ"

ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุธรรมคณาจารย์ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ย้อนรอยบุคคลในประวัติศาสตร์ "หลวงตาอำพัน ปฐมบทแห่งพระกรรมฐานแดนใต้"

เนื่องจากคณะผู้จัดทำ ต้องการให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ที่สุด ทั้งในส่วนของเนื้อหา ภาพประกอบ และงานศิลปกรรม จึงพยายามค้นคว้า สอบถามและเดินทางไปในสถานที่จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบในหนังสือ เพราะโอกาสพิเศษในการจัดทำหนังสือประวัติหลวงปู่ผู้เป็นมหาเถระรูปหนึ่งในยุคปัจจุบันแบบนี้คงมีได้เพียงครั้งเดียว

รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี

เรื่องราวสำคัญในประวัติหลวงปู่เรื่องหนึ่ง คือ การที่หลวงปู่ได้ลงไปเผยแผ่ธรรมะทางภาคใต้ โดยมี หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี เป็นผู้นำ

ปฐมเหตุที่คณะพระกรรมฐานต้องลงไปจังหวัดทางภาคใต้นั้น เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มักจะได้รับการกล่าวถึงแต่ก็ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน คือ หลวงตาอำพัน โดยในอัตโนประวัติหลวงปู่เทสก์ได้กล่าวถึงพระภิกษุรูปนี้ ไว้ว่า

“...แต่เรายังต้องการอยากจะชมปฏิปทาและแนวปฏิบัติของสำนักที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ เช่น ที่ราชบุรีและเพชรบุรี เป็นต้น เราจึงได้ออกเดินทางไปขอพักเพื่อศึกษาในสำนักนั้นๆ จนกระทั่งถึงจังหวัดสงขลา ขณะนั้นพระขุนศิริเตโชดม (อำพัน) ซึ่งเคยเป็นอดีตนายอำเภอ แล้วก็เคยอยู่ด้วยเรามาแล้ว เธอไปเผยแพร่พระธรรมปฏิบัติทางภูเก็ต พังงา ภายหลังมี พระมหาปิ่น ชลิโต (พระครูวิโรจน์ธรรมาจารย์) เป็นชาวนครปฐมซึ่งไม่ใช่คณะของเราไปช่วยประโคมเข้าอีกหนึ่งแรง ทำให้ผู้คนตื่นเต้นแลเอิกเกริกจนเลยขอบเขต เป็นเหตุให้เกิดความแตกร้าวเป็นกลุ่ม เป็นก๊ก พระมหาปิ่นคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่และหมู่ก็ไม่มี เมื่อเธอได้ทราบข่าวว่าเรามาอยู่ที่สงขลา เธอจึงได้ไปขอร้องให้คณะของเราไปช่วยแก้ไขสถานการณ์...”

ที่มา http://www.thewayofd...1/attano26.html

จะเห็นได้ว่า พระกรรมฐานรูปแรกที่ลงไปเผยแผร่ธรรมะทางภาคใต้เป็นองค์แรกนั้น คือ พระขุนศิริเตโชดม (อำพัน) หรือที่ครูบาอาจารย์ในยุคนั้นจะเรียกท่านว่า หลวงตาอำพัน แล้วก็มีหลวงปู่มหาปิ่น ชลิโตได้มาร่วมกันเผยแผ่ด้วย ต่อมาจึงอาราธนาองค์หลวงปู่เทสก์มาเป็นประธาน แต่เรื่องราวและประวัติของหลวงตาอำพันค่อนข้างเลือนราง มีเพียงคำบอกเล่าจากครูบาอาจารย์ในยุคนั้นที่ยังไม่มรณภาพ ได้แก่ หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ ที่เคยพบเจอหลวงตาอำพัน และยังพอมีเรื่องราวของหลวงตาฯ ให้พวกเราได้ฟัง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยท่านเคยได้ยินข่าวว่า หลวงตาฯ น่าจะมรณภาพที่วัดที่ท่านสร้างขึ้นเองในแถบอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร แต่ก็ไม่ทราบชื่อวัด

การค้นหาเรื่องราวของหลวงตาจึงเริ่มขึ้น โดยเริ่มแรก คณะผู้จัดทำหนังสือได้ไปค้นดูรายชื่อวัดธรรมยุตในอำเภอหลังสวนจากเว็บสำนักพุทธฯ ซึ่งมีประมาณ 7 วัด เห็นว่าถ้าหากลงไปสำรวจทุกวัดในวันเดียว ก็คงไม่ไหว เลยจะลองโทรศัพท์สอบถามแต่ละวัดดู แต่วัดส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อแสดงไว้ในเว็บไซต์ จึงติดต่อไปยังเลขาพระธรรมวิสุทธิกวี เจ้าอาวัดวัดโสมนัสวิหาร เจ้าคณะภาค ๑๖ - ๑๗ - ๑๘ (ธ) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น ปัจจุบัน พระสาสนโสภณ) ซึ่งท่านเป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ธรรมยุตทางภาคใต้ทั้งหมด โดยเชื่อว่าท่านน่าจะพอให้ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ได้ ซึ่งท่านก็ให้เบอร์วัดที่พอจะติดต่อได้เพิ่มเติมมา

แล้วก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า น่าจะลองบอกจุดประสงค์ของเราดูในการตามหาหลวงตาอำพัน ซึ่งก็โชคดีมากที่ท่านเลขาท่านนี้รู้เรื่องราวของหลวงตาอำพันด้วย และยังแนะนำถึงผู้ที่จะทราบเรื่องราวนี้ดีคือ พระราชพิศาลสุธี วัดโพธิการาม อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดชุมพร (ธรรมยุต) พร้อมทั้งให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อมา จึงลองโทรไปสอบถามท่านซึ่งก็น่าดีใจมาก เพราะท่านก็ทราบเรื่องราวของหลวงตาอำพันจริงๆ แต่ท่านก็ยังไม่ทันเคยพบหลวงตาฯ เพียงแต่ทราบเรื่องราวจากผู้ที่เคยใกล้ชิดหลวงตาฯ ซึ่งปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ โดยท่านรับจะเป็นภาระในการสืบหาประวัติพร้อมทั้งรูปถ่ายของหลวงตาอำพันด้วย

รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว
วัดเขาดิน

แล้วในวันที่ 29 มิถุนายน 2550 หลายเดือนหลังจากเริ่มต้นติดต่อท่านเจ้าคุณพระราชพิศาลสุธีไป ท่านได้แจ้งมาว่าได้รวบรวมข้อมูลประวัติและรูปถ่ายหลวงตาฯ พร้อมแล้ว พวกเราจึงได้เดินทางไปที่วัดโพธิการามโดยรถ บขส. เพื่อเข้าพบท่านเจ้าคุณฯ ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับและเมตตามอบข้อมูลที่ท่านได้รวบรวมมาจากคนใกล้ชิดหลวงตาอำพัน อีกทั้งรูปถ่ายของหลวงตาอำพัน ซึ่งทีมงานได้เห็นเป็นครั้งแรก พวกเราก็ก้มลงกราบท่านรำลึกในคุณูปการณ์ที่ท่านมีต่อการเผยแผ่ธรรมอย่างอดทน

ท่านเจ้าคุณได้เล่าว่า หลวงตาน่าจะเคยเป็นนายอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ตอนรับราชการท่านได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งในกบฏบวรเดช ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ท่านจึงต้องออกจากราชการและถูกจำคุก เมื่อไต่สวนและพ้นโทษแล้วท่านจึงมาอุปสมบท และได้มาเผยแผ่ธรรมในแดนใต้ ต่อมาท่านได้มรณภาพที่โรงพยาบาลและมาบำเพ็ญกุศลที่วัดโพธิการามแห่งนี้ ส่วนรูปภาพนั้นท่านได้ยืมมาจากวัดเขาดิน ซึ่งเป็นวัดที่หลวงตาสร้างขึ้นและยังมีรูปหลงเหลืออยู่ และยังทำให้เราทราบฉายาท่านคือ จิรวุฑฺโฒ

รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว
อุโบสถวัดเขาดิน

รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว
พระครูถาวรศีลาจาร (เสถียร ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดเขาดิน

รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว
คุณตาดี อีกผู้หนึ่งซึ่งเคยอุปฐากหลวงตาอำพัน

 

รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว
พระอาจารย์เกษม สุเขมิโย

รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว
พระอาจารย์เมื่อครั้งเดินเท้าจากชุมพรไปจังหวัดอุดรธานีเพื่ออุปสมบท
และศึกษาข้อวัตรกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ


พวกเราก็ได้เดินทางไปยังวัดเขาดินโดยโบกรถประจำทางไป วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดป่ากรรมฐานอยู่ มีความร่มรื่นและสะอาดมาก ได้กราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส ท่านชื่อพระอาจารย์เสถียร โดยท่านยังพาชาวบ้านรุ่นเก่าที่ทันได้พบกับหลวงตาอำพัน มาให้พวกเราสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนี้ในวัดเขาดินยังมีเจ้าอาวาสรูปก่อน คือ หลวงพ่อเกษม สุเขมิโย ท่านเป็นชาวชุมพรที่เดินทางไปอุปสมบทกับท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี และได้ไปศึกษาธรรมะและข้อวัตรจากหลวงปู่อ่อน ญาณสิริโดยเดินจากบ้านในชุมพรไปอุดรธานีด้วยเท้า นอกจากนี้ท่านยังคุ้นเคยกับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺโนด้วย โดยองค์หลวงตาก็เคยมาพักที่วัดแห่งนี้

สนทนากันถึงประมาณบ่ายโมงพวกเราก็รีบขอตัวเพราะว่าจะต้องกลับกรุงเทพด้วยรถเที่ยวบ่าย 2 พร้อมกับหอบหิ้วรูปหลวงตาอำพันเข้ากรุงเทพเพื่อแสกนและ ตกแต่งภาพต่อไป

นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์เบื้องหลังของการจัดทำหนังสือประวัติหลวงปู่เหรียญนี้ครับ

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551 ทางเว็บไซต์ ลานธรรม
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

<หน้าก่อน กลับไปหน้า บทความ หน้าถัดไป>
ขอเชิญลงนามและร่วมอนุโมทนาในสมุดเยี่ยม ที่นี่

จัดทำโดย : คณะศิษยานุศิษย์ พระเดชพระคุณ พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เริ่มจัดทำเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๕๒
ขอขอบคุณ คุณกิตติวัฒน์ มโนสุทธิ ผู้ให้การสนับสนุนเ็วบไซต์
E:Mail : luangpurian@mail.com http://www.luangpurian.com