๙.
เรื่อง วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก
ผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์วินัยมาก มีอุบายมากเป็นปริยายกว้างขวาง ครั้นมาปฏิบัติทางจิต
จิตไม่ค่อยจะรวมง่าย ฉะนั้นต้องให้เข้าใจว่าความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้วต้องเก็บใส่ตู้ใส่หีบไว้เสียก่อน
ต้องมาหัดผู้รู้คือจิตนี้ หัดสติให้เป็นมหาสติ หัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญา กำหนดรู้เท่ามหาสมมติ-มหานิยม
อันเอาออกไปตั้งไว้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น เป็นวันคืนเดือนปี เป็นดินฟ้าอากาศ
กลางหาวดาวนักขัตตฤกษ์สารพัดสิ่งทั้งปวง อันเจ้าสังขารคือการจิตหาออกไปตั้งไว้บัญญัติไว้ว่า
เขาเป็นนั้นเป็นนี้ จนรู้เท่าแล้ว เรียกว่ากำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย เมื่อทำให้มาก-เจริญให้มาก
รู้เท่าเอาทันแล้ว จิตก็จะรวมลงได้ เมื่อกำหนดอยู่ก็ชื่อว่าเจริญมรรค หากมรรคพอแล้ว
นิโรธก็ไม่ต้องกล่าวถึง หากจะปรากฏชัดแก่ผู้ปฏิบัติเอง เพราะศีลก็มีอยู่ สมาธิก็มีอยู่
ปัญญาก็มีอยู่ในกาย วาจา จิตนี้ ที่เรียกว่า อกาลิโก ของมีอยู่ทุกเมื่อ โอปนยิโก
เมื่อผู้ปฏิบัติมาพิจารณาของที่มีอยู่ ปจฺจตฺตํ จึงจะรู้เฉพาะตัว คือมาพิจารณากายอันนี้ให้เป็นของอสุภะ
เปื่อยเน่า แตกพังลงไป ตามสภาพความจริงของภูตธาตุ ปุพฺเพสุ ภูเตสุ ธมฺเมสุ
ในธรรมอันมีมาแต่เก่าก่อน สวางโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้มาปฏิบัติพิจารณาพึงรู้อุปมารูปเปรียบดังนี้
อันบุคคลผู้ทำนาก็ต้องทำลงไปในแผ่นดิน ลุยตมลุยโคลนตากแดดกรำฝน จึงจะเห็นข้าวเปลือก
ข้าวสาร ข้าวสุกมาได้ และได้บริโภคอิ่มสบาย ก็ล้วนทำมาจากของมีอยู่ทั้งสิ้นฉันใด
ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีอยู่ใน กาย วาจา จิต ของทุกคน
ฯ
๑๐.
เรื่อง ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ไม่มีปัญหาโอปนยิโก น้อมจิตเข้ามาพิจารณา
กาย วาจา จิตอกาลิโกอันเป็นของมีอยู่ อาโลโกสว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
ปจฺจตฺตํ
เวทิตพฺโพ วิญญูหิ อันนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายผู้น้อมเข้ามาพิจารณาของมีอยู่นี้
ได้รู้แจ้งจำเพาะตัวมาแล้ว เป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ว่ากาลนั้นจึงจะมี กาลนี้จึงจะมี
ย่อมมีอยู่ทุกกาล ทุกสมัย ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้เฉพาะตัว คือผิดก็รู้จัก ถูกก็รู้จักในตนของตนเอง
ดีชั่วอย่างไรตัวของตัวย่อมรู้จักดีกว่าผู้อื่น ถ้าเป็นผู้หมั่นพินิจพิจารณาไม่มัวประมาทเพลิดเพลินเสีย
ตัวอย่างที่มีมาแล้วคือ มาณพ ๑๖ คน ซึ่งเป็นศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ ท่านเหล่านั้นเจริญญานกสิณติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน
พระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสสอนให้พิจารณาของมีอยู่ในตน ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาให้รู้ว่า
กามภพเป็นเบื้องต่ำ รูปภพเป็นเบื้องกลาง อรูปภพเป็นเบื้องบน แล้วถอยลงมาให้รู้ว่า
อดีตเป็นเบื้องต่ำ อนาคตเป็นเบื้องบน ปัจจุบันเป็นท่ามกลาง แล้วชักเข้ามาหาตัวอีกให้รู้ว่า
อุทฺธํ
อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
เบื้องขวางฐานกลาง เมื่อท่านเหล่านั้นมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปจฺจตฺตํ จึงรู้เฉพาะขึ้นที่ตัวของตัวโดยแจ่มแจ้ง
สิ้นความสงสัยข้อปฏิบัติ ไม่ต้องไปเที่ยวแสวงหาที่อื่นให้ลำบาก ฯ
๑๑.
เรื่อง ได้ฟังธรรมทุกเมื่อ
ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม
คืออาศัยการสำเหนียก กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ตา หู จมูก
ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีอยู่ปรากฏอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่ปรากฏอยู่
ได้เห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ได้สูด ดม ลิ้ม เลีย และสัมผัสอยู่ จิตใจเล่า? ก็มีอยู่
ความคิดนึกรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้ายก็มีอยู่ ความเสื่อม ความเจริญ
ทั้งภายนอกภายใน ก็มีอยู่ ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา เขาแสดงความจริงคือความไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ ทุกเมื่อ เช่นใบไม้มันเหลืองหล่นร่วงลงจากต้น
ก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็น ดังนี้เป็นต้น เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา
โดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้ว ชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืนแล
ฯ
๑๒.
เรื่อง ปริญเญยฺยธรรม
การกำหนดพิจารณาธรรมเรียกบริกรรมจิตที่กำลังทำการกำหนดพิจารณาธรรมอย่างเอาใจใส่
เมื่อได้ความแน่ใจในเหตุผลของธรรมที่พิจารณานั้นแล้ว จิตจะสงบรวมลงสู่ภวังค์
ดำรงอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอยออก ความสงบในขั้นนี้เรียก บริกรรมสมาธิ หรือ
ขณิกสมาธิ
การกำหนดพิจารณาธรรมแล้วจิตสงบรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐีติธรรมดำรงอยู่นานหน่อยแล้วถอยออกมารู้เห็นอสุภะปรากฏขึ้น
ความสงบในขั้นนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ
การกำหนดพิจารณาธรรมคืออสุภนิมิต ที่ปรากฏแก่จิตที่เรียกว่าอุคคหนิมิตนั้นจนเพียงพอแล้ว
จิตปล่อยวางนิมิตเสีย สงบรวมลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรมดำรงอยู่นาน เป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียว
สงบนิ่งแน่วแน่ มีสติรู้อยู่ว่าจิตดำรงอยู่กับที่ ไม่หวั่นไหวไปมา ความสงบชั้นนี้เรียกว่าอัปปนาสมาธิ
ส่วน นิมิต อันปรากฏแก่ผู้บำเพ็ญสมาธิภาวนาตามลำดับชั้นดังกล่าวนี้ ก็เรียกว่า
บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ตามลำดับกัน
อนึ่ง ภวังค์ คือภพหรือฐานของจิตนั้น ท่านก็เรียกชื่อเป็น ๓ ตามอาการเคลื่อนไปของจิต
คือ ภวังคบาท ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ขณะแรกที่จิตวางอารมณ์เข้าสู่ฐานเดิมของตน
ที่เรียกอย่างสามัญว่าปกติจิตนั้นแลเรียกว่า ภวังคบาท ขณะที่จิตเริ่มไหวตัวเพื่อขึ้นสู่อารมณ์อีกเรียกว่า
ภวังคจลนะ ขณะที่จิตเคลื่อนจากฐานขึ้นสู่อารมณ์ เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ
จิตของผู้บำเพ็ญภาวนาเข้าสู่ความสงบถึงฐานเดิมของจิตแล้วพักเสวยความสงบอยู่ในสมาธินั้นนานมี
อาการครบองค์ของฌานจึงเรียกว่า
ฌาน เมื่อทำการพินิจพิจารณาธรรมด้วยปัญญาจนเพียงพอแล้ว จิตรวมลงสู่ภวังค์
คือ ฐานเดิมของจิตจนถึงฐีติ ขณะตัดกระแสภวังค์ขาดหายไปไม่พักเสวยอยู่ เกิดญาณความรู้ตัดสินขึ้นว่า
ภพเบื้องหน้าของเราไม่มีอีก ดังนี้เรียกว่า ฐีติญาณ