๑๓.
เรื่อง บั้นต้นโพธิสัตว์
ปฐมโพธิสัตว์ มัชฌิมโพธิสัตว์ ปัจฉิมโพธิสัตว์ ปฐมโพธิกาล มัชฌิมโพธิกาล ปัจฉิมโพธิกาล
ปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา ปัจฉิมเทศนา
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา เสด็จออกจากคัพโภทรของพระนางเจ้าสิริมหามายา
ณ สวนลุมพินีวัน ระหว่างนครกบิลพัสดุ์กับนครเทวหะต่อกัน ครั้นประสูติแล้ว
ก็ทรงพระเจริญวัยมาโดยลำดับ ครั้นสมควรแก่การศึกษาศิลปวิทยา เพื่อปกครองรักษาบ้านเมืองตามขัตติยประเพณีได้แล้วก็ทรงศึกษาศิลปวิทยา
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษาก็ได้ปกครองบ้านเมืองเสวยราชสมบัติแทนพระเจ้าศิริสุทโธทนมหาราช
ผู้พระราชบิดานับว่าได้เป็นใหญ่เป็นราชาแล้ว พระองค์ทรงพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ
ก็ต้องทรงคิดอ่านการปกครองรักษาบ้านเมืองและไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้ร่มเย็นเป็นสุข
ทรงบังคับบัญชาอย่างไร เขาก็ทำตามทุกอย่าง ครั้นทรงพิจารณาหาทางบังคับบัญชาความเกิดแก่เจ็บตายให้เป็นไปตามใจหวังก็เป็นไปไม่ได้
ถึงอย่างนั้นก็มิทำให้ท้อพระทัยในการคิดอ่านหาทางแก้เกิดแก่เจ็บตาย ยิ่งเร้าพระทัยให้คิดอ่านพิจารณายิ่งขึ้น
ความคิดอ่านของพระองค์ในตอนนี้เรียกว่าบริกรรม ทรงกำหนดพิจารณาในพระทัยอยู่เสมอ
จนกระทั่งพระสนมทั้งหมดปรากฏให้เห็นเป็นซากอสุภะดุจป่าช้าผีดิบ จตุนิมิต ๔
ประการคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงบันดาลให้พระองค์เกิดเบื่อหน่ายในราชสมบัติ
แล้วเสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา ตอนนี้เรียกว่า ปฐมโพธิสัตว์ เป็นสัตว์พิเศษ
ผู้จะได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเที่ยงแท้ก่อนแต่กาลนี้ไม่นับ
นับเอาแต่กาลปัจจุบันทันตาเห็นเท่านั้น
ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงตัดพระเมาฬีด้วยพระขรรค์อธิษฐานบรรพชา
อัฏฐบริขารมีมาเองด้วยอำนาจบุญฤทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์เป็นผ้าบังสุกุลจีวร เหตุอัศจรรย์อย่างนี้มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ต่อนั้นมาต้องทรงแสวงหา เหล่าปฐมสาวกก็เหมือนกัน อัฏฐบริขารเกิดขึ้นด้วยบุญฤทธิ์เพียงครั้งแรกเท่านั้น
ครั้นทรงบรรพชาแล้ว ทรงทำทุกรกิริยาประโยคพยายามพิจารณาอุคคหนิมิตที่ทรงรู้ครั้งแรก
แยกออกเป็นส่วนๆ เป็นปฏิภาคนิมิตจนถึงเสด็จประทับนั่ง ณ ควงแห่งมหาโพธิพฤกษ์
ทรงชนะมารและเสนามารเมื่อเวลาพระอาทิตย์อัสดงคตยัง บุพเพนิวาสานุสติญาณ ให้เกิดในปฐมยาม
ยัง จุตูปปาตญาณ ให้เกิดในมัชฌิมยาม ทรงตามพิจารณาจิตที่ยังปัจจัยให้สืบต่อที่เรียกว่า
ปัจจยาการ ตอนเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ตอนนี้เรียกว่า มัชฌิมโพธิสัตว์
ครั้นเมื่อทรงพิจารณาตามเหตุผลเพียงพอสมควรแล้ว จิตของพระองค์หยั่งลงสู่ความสงบถึงฐีติธรรมดำรงอยู่ในความสงบพอสมควรแล้ว
ตัดกระแสภวังค์ขาดไป เกิดญาณความรู้ตัดสินขึ้นในขณะนั้นว่า ภพเบื้องหน้าของเราไม่มีอีกแล้ว
ดังนี้เรียกว่า อาสวักขยญาณ ประหารเสียซึ่งกิเลสอาสวะทั้งหลายให้ขาดหายไปจากพระขันธสันดาร
สรรพปรีชาญานต่างๆ อันสำเร็จมา แต่บุพพวาสนาบารมี ก็มาชุมนุมในขณะจิตอันเดียวนั้นจึงเรียกว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ระยะกาลตอนนี้เรียกว่า ปัจฉิมโพธิสัตว์
ครั้นตรัสรู้แล้ว ทรงเสวยวิมุตติสุข อยู่ในที่ ๗ สถาน ตลอดกาล ๔๙ วันแล้วแลทรงเทศนาสั่งสอนเวไนยนิกร
มีพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น จึงถึงทรงตั้งพระอัครสาวกทั้ง ๒ และแสดงมัชฌิมเทศนา
ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร จัดเป็นปฐมโพธิกาล
ต่อแต่นั้นมา ก็ทรงทรมานสั่งสอนเวไนยนิกรตลอดเวลา
๔๕ พระพรรษา จัดเป็น มัชฌิมโพธิกาล ตั้งแต่เวลาทรงประทับไสยาสน์ ณ พระแท่นมรณมัญจาอาสน์
ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ ในสาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราราชธานี
และทรงแสดงพระปัจฉิมเทศนาแล้วปิดพระโอษฐ์ เสด็จดับขันธปรินิพพานระยะกาลตอนนี้จัดเป็น
ปัจฉิมโพธิกาล ด้วยประการฉะนี้
(ส่วน ปฐมเทศนา
มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา นั้น มีเนื้อความเป็นประการไร ได้แสดงแล้วในส่วนที่
๑)
๑๔.
เรื่อง โสฬสกิจ
กิจในพระธรรมวินัยนี้ ที่นับว่าสำคัญที่สุดเรียกว่า โสฬสกิจ เป็นกิจที่โยคาวจรกุลบุตรพึงพากเพียรพยายามทำให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท
โสฬสกิจ ได้แก่กิจในอริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ชั้นโสดาบันก็ประชุม
๔ ชั้น สกิทาคามีก็ประชุม ๔ สองสี่ก็เป็น ๘ ชั้นอนาคามีก็ประชุม ๔ ชั้นอรหันต์ก็ประชุม
๔ สองสี่ก็เป็น ๘ สองแปดเป็น ๑๖ กำหนดสัจจะทั้ง ๔ รวมเป็นองค์อริยมรรคเป็นขั้นๆ
ไป
เมื่อเรามาเจริญอริยมรรคทั้ง ๘ อันมีอยู่ในกายในจิต คือ ทุกข์ เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นปริญเญยฺยะ
ควรกำหนดรู้ก็ได้ กำหนดรู้ สมุทัย เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่
เป็นปหาตัพพะ ควรละก็ละได้แล้ว นิโรธ เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นสัจฉิกาตัพพะ
ควรทำให้แจ้งก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรค เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นภาเวตัพพะ
ควรเจริญให้มากก็ได้เจริญให้มากแล้ว เมื่อมากำหนดพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็แก้โลกธรรม
๘ ได้สำเร็จ
มรรค อยู่ที่ กาย กับ จิต คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ รวมเป็น ๖ ลิ้น ๑ เป็น ๗ กาย
๑ เป็น ๘ มาพิจารณารู้เท่าสิ่งทั้ง ๘ นี้ ไม่หลงไปตาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อันมาถูกต้อง ตนของตนจิตไม่หวั่นไหว โลกธรรม
๘ เป็นคู่ปรับกับมรรค ๘ เมื่อรู้เท่าส่วนทั้งสองนี้แล้ว เจริญมรรคให้บริบูรณ์เต็มที่
ก็แก้โลกธรรม ๘ ได้ ก็เป็นผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ
วิรชํ เขมํ เอตมฺ มงฺคลมุตฺตมํ โลกธรรมถูกต้องจิตผู้ใดแล้ว จิตของผู้นั้นไม่หวั่นไหวเมื่อไม่หวั่นไหวก็ไม่เศร้าโศก
เป็นจิตปราศจากเครื่องย้อม เป็นจิตเกษมจากโยคะ จัดว่าเป็นมงคลอันอุดมเลิศ
ฉะนี้แล ฯ
๑๕.
เรื่อง สำคัญตนว่าได้บรรลุอรหัตตผล
กิร ดังได้สดับมา ยังมีภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนาของพระบรมศาสดาของเรานี้
องค์หนึ่งมีพรรษาแก่กว่าอีกองค์หนึ่งมีพรรษาอ่อนกว่า เป็นสหธรรมิกที่มีความรักใคร่ในกันและกัน
แต่จากกันไปเพื่อประกอบความเพียร องค์อ่อนพรรษากว่าได้สำเร็จพระอรหันตผลเป็นพระอรหันต์ก่อน
องค์แก่พรรษาได้แต่เพียรกำลังสมาธิสมาบัติ และเป็นผู้ชำนาญในวสี จะพิจารณาอธิษฐานให้เป็นอย่างไรก็ได้ดังประสงค์
และเกิดทิฏฐิสำคัญว่ารู้ทั่วแล้ว ส่วนองค์หย่อนพรรษาครั้นพิจารณาดูก็ทราบได้ด้วยปัญญาญาณ
จึงสั่งให้องค์แก่พรรษากว่าไปหาท่านองค์นั้นไม่ไป สั่งสอนสามครั้งก็ไม่ไป
องค์หย่อนพรรษาจึงไปหาเสียเอง แล้วยังกันและกันให้ยินดี พอสมควรแล้วจึงพูดกับองค์แก่กว่าว่า
ถ้าท่านสำคัญว่ารู้จริง ก็จงอธิษฐานให้เป็นสระในสระให้มีดอกบัวหลวง ๑ ดอก
ในดอกบัวหลวงให้มีนางฟ้อนสวยงาม ๗ นาง องค์แก่พรรษาก็เนรมิตได้ตามนั้น ครั้นเนรมิตแล้วองค์อ่อนพรรษากว่าจึงสั่งให้เพ่งดู
ครั้นเพ่งดูนางฟ้อนอยู่ กามราคะกิเลสอันสั่งสมมาแล้วหลายร้อยอัตตภาพก็กำเริบ
จึงทราบได้ว่าตนยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นแล้วองค์อ่อนพรรษาจึงเตือนให้รู้ตัว
และให้เร่งทางปัญญาวิปัสสนาญาณ องค์แก่พรรษากว่าครั้นปฏิบัติตามทำความพากเพียรประโยคพยายามอยู่
มิช้ามินานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสวะบุคคลในพระพุทธศาสนาด้วยประการฉะนี้
อปรา ยังเรื่องอื่นอีก มีเนื้อความอย่างเดียวกันแต่นิมิตต่างกัน คือให้เนรมิตช้างสารซับมันตัวร้ายกาจวิ่งเข้ามาหา
หลงรูปเนรมิตของตนเอง เกิดความสะดุ้งตกใจกลัวเตรียมตัววิ่งหนี เพื่อนสหธรรมมิกผู้ไปช่วยเหลือได้ฉุดเอาไว้
และกล่าวตักเตือนสั่งสอนโดยนัยหนหลัง จึงหยุดยั้งใจได้และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสหธรรมมิกผู้ช่วยเหลือนั้น
ไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสวะบุคคลในพระบวรพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน
แม้เรื่องนี้ก็พึงถือเอาเป็นทิฏฐานุคติ เช่นเดียวกับเรื่องก่อนนั้นแล
นี้เป็นนิทานที่เป็นคติสำหรับผู้ปฏิบัติจะพึงอนุวัติตามคือ ผู้เป็นสหธรรมิก
ประพฤติธรรมร่วมกันทุกคน จงมาเป็นสหายกันในกิจที่ชอบ ทั้งที่เป็นกิจภายใน
ทั้งที่เป็นกิจภายนอกยังประโยชน์ของกันและกันให้สำเร็จด้วยดีเถิด
๑๖.
เรื่อง อุณหัสสวิชัยสูตร
ผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ผู้นั้นย่อมชนะได้ซึ่งความร้อน
อุณหัสสคือความร้อนอันเกิดแก่ตน
มีทั้งภายในและภายนอก ภายนอกมีเสือสางคางแดง ภูตผีปีศาจ เป็นต้น ภายในคือกิเลส
วิชัยคือความชนะ ผู้ที่มาน้อมเอาสรณะทั้งสามนี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมจะชนะความร้อนเหล่านั้นไปได้หมดทุกอย่างที่เรียกว่า
อุณหัสสวิชัย
อุณหสฺสวิชดย ธมฺโม โลเก อนุตฺตโร พระธรรมเป็นของยิ่งในโลกทั้งสาม สามารถชนะซึ่งความร้อนอกร้อนใจอันเกิดแต่ภัยต่างๆ
ปริวชฺเช
ราชทนฺเฑ พยคฺเฆ นาเค วีเส ภูเต อกาลมรเณน จ สพฺพสฺม มรณา มุตฺโต จะเว้นห่างจากอันตรายทั้งหลายคือ
อาชญาของพระราชา เสือสาง นาค ยาพิษ ภูตผี ปีศาจ หากว่ายังไม่ถึงคราวถึงกาลที่จักตายแล้ว
ก็จักพ้นไปได้จากความตายด้วยอำนาจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ตนน้อมเอาเป็นสรณะที่พึ่งที่นับถือนั้น
ความข้อนี้มีพระบาลีสาธกดังจะยกมาอ้างอิงในสมัยเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์หนุ่ม
๕๐๐ รูป ประทับอยู่ในราวป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เทวดาทั้งหลายพากันมาดู
แล้วกล่าวคาถาขึ้นว่า เยเกจิ พุทฺธํ สรณํ คตา เส น เต คมิสฺ สนฺติ อปายภูมิ
ปหาย มานุสํ เทหํ เทวกายํ ปริปูเรสฺสนฺติ แปลความว่า บุคคลบางพวกหรือบุคคลไรๆ
มาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งแล้ว บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง
๔ มีนรกเป็นต้น เมื่อละร่างกายอันเป็นของมนุษย์นี้แล้ว จักไปเป็นหมู่แห่งเทพดาทั้งหลายดังนี้
สรณะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มิได้เสื่อมสูญอันตรธานไปไหน ยังปรากฏอยู่แก่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงอยู่เสมอ
ผู้ใดมายึดถือเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ผู้นั้นจะอยู่กลางป่าหรือเรือนว่างก็ตาม
สรณะทั้งสามก็ปรากฏแก่เราอยู่ทุกเมื่อ จึงว่าเป็นที่พึ่งแก่บุคคลจริง เมื่อปฏิบัติตามสรณะทั้งสามจริงๆ
แล้ว จะคลาดแคล้วจากภัยทั้งหลาย อันก่อให้เกิดความร้อนอกร้อนใจได้แน่นอนทีเดียว