เคลื่อนขบวนไปสู่ความจริง
  หน้า : [ 1 | 2 | หน้าหลัก ]


        ขบวนหามเดินไปเรื่อย ๆ ตามหนทางเหล่านั้น จนผ่านริมสวนไร่นาของหมู่บ้านโคกสะอาดเลาะเลียบ ไปทางใต้ของหมู่บ้าน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยไม่ได้แวะเข้าหมู่บ้านโคกสะอาดและหมู่บ้านใดอีกเลย เพียงแต่เฉียดผ่านเขตนอกหมู่บ้านเท่านั้น จนกระทั่งเข้าสู่เขตป่าใหญ่ดงไม้ที่เรียกว่าเบญจพรรณ มี กะบาก ตะแบก เต็ง รัง ไม้แดง พะยอม พะยูง ยาง อันสูงใหญ่ลิบลิ่วจนยอดเฉียดฟ้าเทียมเมฆ ซึ่งยืนต้นเรียงราย อยู่ตามขอบสองข้างทางเดิน

        พวกขบวนหามก็หามท่านพระอาจารย์มั่นไปตามหนทางอันคดเคี้ยว บ้างก็เลี้ยวหลบหลุมบ่อลึกที่แห้งขอด บ้างก็เดินตามทางที่ราบเรียบเตียนโล่งลอดใต้ต้นไม้ใหญ่พอได้อาศัยร่มเงาเย็นเป็นกำลังในการเดินทาง บางคราว ลมหนาวเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนสิบสองซึ่งพัดเอื่อยอยู่บนท้องฟ้าแผ่กระจายไปทั่วนภากาศ หอบต้อนเอา ก้อนเมฆขาวสะอาดเป็นกลุ่ม ๆ ค่อย ๆ เคลื่อนบ่ายลงสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลอยล่องผ่านไป ลูกแล้วลูกเล่าบาง ครั้งลมอ่อนๆ ก็พัดซู่โชยมา เบื้องล่างเป็นระลอกคลื่นสัมผัสกระทบปลายยอดกิ่งไม้ที่เรียงรายตามทางจรจนกิ่งก้าน พุ่มใบปลิวโนไปมา ส่วนใบที่เหลืองแก่แห้งขั้วก็หลุดร่วงกรูพรั่งพรูโปรบปรายลงมาเป็นสายสู่พื้นดิน คล้ายกับว่า มีใครยินดีโปรยดอกไม้เงินดอกไม้ทองลงมาจากสรวงสวรรค์ จนเวลานานเท่าไหร่ไม่ทราบจึงบรรลุเข้าสู่เขต แดนหมู่บ้านอุ่มไผ่ และต้องเลี้ยวตามทางไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย

        การเดินในระยะทางช่วงนี้ใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ไม่ทราบ จึงบรรลุถึงทุ่งนาของชาวบ้านหนองโดก และหามเดินเลาะเลียบริมฝั่งหัวหนองโดกลงมาทางใต้ แล้วมุ่งหน้าเดินตามทางขึ้นสู่ป่าดงดิบอันเต็มไปด้วยไม้ นานาชนิด ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับป่าดงไม้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นป่าดงในช่วงนี้รู้สึกว่ากว้างไกลพอสมควร จนกระทั่งทะลุถึงทุ่งนา ซึ่งเป็นของชาวบ้านกุดก้อมอยู่ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านเล็กน้อย ขบวนหามก็หามผ่าน ทุ่งนา เดินตามคันนาจนถึงห้วยซึ่งมีสะพานที่ทำด้วยไม้อยู่กลางทุ่งนา โดยหามข้ามสะพานไปได้ด้วยดี แล้วจึง มุ่งไปสู่วัดป่ากลางโนนภู่อันเป็นวัดของพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งของท่าน พระอาจารย์มั่นและเคยพำนักพักจำพรรษากับท่าน

        แต่ก่อนจะไปถึงวัดป่ากลางโนนภู่นั้น จะต้องหามท่านพระอาจารย์มั่นเดินตามทางบนคันนาซึ่งย้อน ไปย้อนมาหักหน้าหักหลัง เพราะพื้นนานั้นเต็มไปด้วยต้นข้าวที่กำลังสุกเหลืองอร่ามพอจะ เก็บเกี่ยวได้แล้ว ขบวนหามได้ไปถึงนาของโยมคนหนึ่งชื่อ คุณโยมเป้ะ ชาวบ้านกุดก้อมซึ่งได้ร่วมเดินมากับขบวนนี้ด้วย เขาเป็นอุบาสกที่มีความศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมากอยู่ เห็นความลำบากในการหามท่านย้อนไปย้อนมา บนคันนา และเวลานั้นใกล้จะค่ำอยู่แล้วจึงยอมเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ โดยยอมให้ขบวนหามเดินผ่านต้นข้าว ที่กำลังสุกเหลืองอร่ามอยู่นั้นเพื่อตรงมุ่งหน้าสู่วัดป่ากลางโนนภู่ได้เลย เพราะที่นาของเขาอยู่ระหว่างกลาง ของทางเข้าวัด ท่านทั้งหลายลองคิดดู คนเกือบสองร้อยคนเดินผ่านนาข้าวที่กำลังสุกเหลืองอร่ามอยู่นั้น สภาพจะเป็นอย่างไร แต่เจ้าของนารายนี้เขากลับดีใจและไม่คิดเสียดายเลย เป็นสิ่งที่แปลกนี่แหละท่านเรียก ว่าบุญ เกิดขึ้นในใจของเขาแล้ว


วัดป่ากลางโนนกู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

         ในที่สุดก็หามท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่วัดป่ากลางโนนกู่ บ้านกุดก้อม ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้โดยสวัสดิภาพ เมื่อถึงวัดแล้วหามองค์ท่านขึ้นพำนัก พักบนกุฏิหลังหนึ่งที่กว้างขวาง และถาวรที่สุดในสมัยนั้น คราวนี้ผู้คนประชาชนพระเณรพร้อมทั้งผู้ที่ติดตามขบวนหามมา ต่างก็หลั่งไหล แห่เข้ามาภายในบริเวณวัด เพราะเป็นเวลาจะใกล้ค่ำมืดอยู่แล้วบางคนพึ่งทราบข่าวก็เข้ามาในบริเวณวัดเดี๋ยวนั้น ก็มี พระเณรที่ติดตามอุปัฏฐากซึ่งมากับพระเถระต่างก็ตระเตรียมหาที่พักชั่วคราวตามแต่จะหาได้ตรงไหน สำหรับอาจารย์ของใครๆ อย่างฉุกละหุกวุ่นวายพอสมควร สำหรับพระเถระผู้ใหญ่พร้อมกับพระอุปัฏฐากที่ ใกล้ชิดท่านพระอาจารย์มั่นก็เข้าไปชุมนุมที่กุฏิรับรองท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อย

        สำหรับญาติโยมชาวบ้านหนองผือที่ติดตาม เมื่อหามส่งท่านพระอาจารย์มั่นถึงจุดหมายปลายทาง เรียบร้อยแล้วก็พากันเก็บแคร่คานหามและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้หามท่าน บางหมู่บางคณะก็กลับบ้านในคืนนั้น เพราะรีบเร่งในการที่จะลงเก็บเกี่ยวข้าวที่กำลังสุกแก่เต็มที่แล้วโดยเดินด้วยฝีเท้าลัดไปตามทางคนเดิน ผ่านหมู่บ้านเสาขวัญถึงวัดถ้ำเจ้าผู้ข้า แล้วขึ้นสู่สันเขาภูพานข้ามตรงลงไปทางบ้านหนองผือเป็นระยะทาง ไม่ไกลนักประมาณ ๗-๘ กิโลเมตร


ศาลาพักอาพาธท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่ากลางโนนกู่

        ส่วนอีกหมู่คณะหนึ่งซึ่งยังไม่กลับในคืนนั้นก็พักค้างคืนที่วัดป่ากลางโนนภู่ พอรุ่งเช้าเมื่อกินข้าว กินปลาเสร็จธุระเรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางข้ามเขาภูพานกลับบ้านเช่นเดียวกัน โดยหมู่คณะหลังนี้ส่วนมากเป็นคนแก่ เมื่อเห็นว่าหมดธุระหน้าที่แล้วจึงเข้าไปขอโอกาสกราบลาท่านพระอาจารย์มั่นที่กุฏิรับรอง โดยเข้าไปกราบบอก ความประสงค์ให้พระอุปัฏฐากทราบ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า ผู้ใกล้ชิดอุปัฏฐากในช่วงนั้นเข้าใจว่าคงเป็น พระอาจารย์วัน อุตฺตโม เมื่อพระอาจารย์วันเห็นญาติโยมชาวบ้านหนองผือเข้ามากราบลาท่านพระอาจารย์มั่น กลับบ้าน ท่านจึงพนมมือน้อมตัวไปทางท่านพระอาจารย์มั่น แล้วกล่าวคำขอโอกาสรายงานท่านพระอาจารย์มั่นว่า " พวกโยมบ้านหนองผือ มากราบลาท่านพ่อแม่ครูบาอาจารย์กลับบ้านกระผม"

        เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นได้ยินเสียง จึงลืมตาขึ้นช้าๆ เห็นเป็นโยมชาวบ้านหนองผือท่านได้พูดตักเตือน เป็นสำเนียงอีสานครั้งสุดท้ายว่า " เมือเสียเด้อ... หมดทอนี้ล่ะเน้อ... เอาน้ำไปรดไม้แก่นล่อนให้มันเป็นป่งเป็นใบ บ่มีดอกเด้อ... ให้พากันเฮ็ดพากันทำตามที่อาตมาเคยพาเฮ็ดพาทำนั้นเด้อ อย่าลืมเด้อ...ให้พากันรักษาศีลห้า ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิต ผู้นั้นเลิศที่สุด หมดทอนี้ล่ะ " ( หมายความว่า ให้พวกโยมชาวบ้านหนองผือ พากันกลับบ้านซะ ชีวิตของท่านก็คงจะหมดเท่านี้แหละจะรักษาเยียวยาอย่างไรก็คงไม่หาย เปรียบเสมือนกับ เอาน้ำไปรดต้นไม้ที่ตายผุกร่อน เหลือแต่แก่นให้มันกลับงอกกิ่งใบได้อีก คงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นท่านให้ พากันปฏิบัติตามแนวทาง ที่ท่านเคยสั่งสอนและปฏิบัติมาแล้วนั้น ท่านว่า ไม่ให้ลืมโดยเฉพาะศีลห้าซึ่งเหมาะสำหรับ ฆราวาสที่สุด ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิตแล้วท่านว่า คนนั้นเป็นคนที่เลิศที่สุดในชีวิตของเพศฆราวาส ) จากนั้น ท่านก็หลับตาลงแล้วไม่ได้พูดอะไรต่ออีกเลย คำพูดเหล่านั้นเป็นการพูดครั้งสุดท้ายของท่าน
โยมแม่นุ่ม ชุวานนท์
        เมื่อญาติโยมชาวบ้านหนองผือกลับบ้านแล้ว ก็ยังคอยฟังข่าวคราวของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ ตลอดเวลา ได้ทราบว่าท่านพักอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ประมาณ ๙-๑๐ วัน จึงมีโยมแม่นุ่ม ชุวานนท์ ที่เป็นชาว เมืองสกลนคร ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่รู้จักและศรัทธาในพระกัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่น มากในยุคแรก ได้ให้รถมารับท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดสกลนคร เพื่อไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส

        ในการรับองค์ท่านพระอาจารย์มั่นไปในคราวนี้นั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมทางไปรับและมี หมอติดตามไปกับรถนี้ด้วย ชื่อคุณหมอประยูร ศรีมาดา ซึ่งเป็นหมอประจำสุขศาลา ในเมืองสกลนคร โดยนำรถออกวิ่งจากตัวเมืองสกลนคร ไปตามถนนสายสกลนคร-อุดรธานี ( สมัยนั้นยังเป็นทางหินลูกรัง ) รถวิ่งไปตามทางหินลูกรังอย่างทุลักทุเล ใช้เวลากี่ชั่วโมงไม่ทราบได้ รถวิ่งมาได้โดยปลอดภัยจนกระทั่งมาหยุด จอดที่ปากทางแยกเข้าวัดป่ากลางโนนภู่ ซึ่งอยู่ห่างจากวัด ประมาณ ๑ กิโลเมตร รถเข้าถึงวัดไม่ได้เพราะติดทุ่งนา ซึ่งมีแต่ทางเกวียนเล็กๆ ผ่านเข้าไปสู่หน้าวัดเท่านั้น

        ดังนั้นจึงแก้ปัญหา โดยให้ญาติโยมชาวบ้านพากันหามท่านพระอาจารย์มั่นจากวัดป่ากลางโนนภู่ มาขึ้นรถที่จอดรออยู่ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ก่อนจะหามท่านออกจากวัด คุณหมอได้ฉีดยานอนหลับให้ท่านเข็มหนึ่ง จึงหามท่านมาขึ้นรถ เมื่อถึงรถก็นำองค์ท่านมาขึ้นรถ เมื่อถึงรถก็นำองค์ท่านขึ้นรถและจัดให้ท่านอยู่ในอาการที่สบาย จากนั้นขบวนรถจึงได้เคลื่อนตัวออก นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมุ่งสู่ตัวเมืองสกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่นนอนหลับ ตลอดทาง จะด้วยฤทธิ์ของยานอนหลับก็ไม่อาจทราบได้ จนในที่สุดรถได้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่น เข้าสู่วัด ป่าสุทธาวาสโดยปลอดภัย โดยมาถึงวัดเวลาประมาณบ่าย ๓ หรือ ๔ โมงเย็นของวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒

        เมื่อถึงวัดแล้วจึงหามองค์ท่านขึ้นไปพักบนกุฏิรับรองที่เตรียมไว้แล้ว และดูแลให้ท่านนอนพัก แต่อาการ ท่านอ่อนเพลียมาก ท่านไม่พูดจาอะไรเลย เป็นเพียงแต่นอนหลับตามีลมหายใจเชื่องช้าแผ่วเบา และเคลื่อนไหวกาย เล็กน้อยเท่านั้น ฝ่ายครูบาอาจารย์พระเณรในตอนนี้ต่างก็นั่งรายล้อมสงบอยู่ บางท่านก็คอยห้ามไม่ให้ส่งเสียง ดังเพื่อรักษาความสงบ และคอยเตือนผู้คนประชาชนที่ทราบข่าว และหลั่งไหลเข้ามาในบริเวณวัด ไม่ให้ส่งเสียง หรือเข้าไปใกล้รบกวนท่านที่พักผ่อนสงบอยู่นั้น

        เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน มันเคลื่อนคล้อยค่ำมืดลงทุกทีจาก ๖ โมงเย็นเป็น ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม และ ๔ ทุ่มผ่านไปจนถึง ๖ ทุ่ม ตี ๑ ครึ่งกว่า ๆ อาการขององค์ท่านพระอาจารย์มั่นที่นอนนิ่งอยู่บนที่นอน นั้น ก็เริ่มผิดปกติเป็นไปในทางที่ไม่น่าไว้ใจ มีความอ่อนเพลียมากขึ้น ลมหายใจแผ่วเบามากและเบาลง ๆ ตามลำดับอย่างน่าใจหาย ส่วนองค์กายของท่านนอนอยู่ในท่าครึ่งหงายตะแคงขวา ในที่สุดลมหายใจขององค์ ท่านก็สิ้นสุด ถึงแก่มรณภาพละสังขาร ไว้ให้แก่โลกไพิจารณาโดยสงบ ชีวิตขององค์ท่านจบสิ้นเพียงเท่านี้ ซึ่งตรงกับเวลาตี ๒ กว่าๆ ที่ถือว่าเป็นวันใหม่ คือวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

< หน้าก่อน   หน้าหลัก >

WWW.LUANGPUMUN.ORG