๒๖ เมษายน ๒๕๔๔
หน้าที่ ๒

พวกเราออกเดินทางออกจากวัดป่าบ้านหนองผือเวลา 11.00 น. ไปตามเส้นทางที่จะเข้าสู่ตัวเมือง โดยแวะที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูพานเพื่อศึกษาธรรมชาติในแถบนี้ ทานข้าวและจึงเข้าไปสู่วัดป่าสุทธาวาสเวลาประมาณ 14.00 น. สภาพวัดไม่กว้างขวางพอสมควร มีต้นไม้ใหญ่ๆ พอสมควรให้ร่มรื่นบ้าง เนื่องจากเป็นวัดอยู่กลางเมืองความสงบจึงมีน้อย เหมาะสำหรับเป็นสถานที่มากราบรำลึกถึงองค์หลวงปู่มั่นมากกว่าที่จะมาพักปฏิบัติธรรม สำหรับปูชนียสถานสำคัญภายในวัดได้แก่ พระอุโบสถ พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่มั่น และเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย


ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์

รูปหล่อองค์หลวงปู่

อัฐิธาตุ

สมุดบันทึกของท่าน

วัดป่าสุทธาวาสมีความสำคัญคือเป็นสถานที่ที่ทั้งหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นมาจำพรรษา โดยเฉพาะหลวงปู่มั่นท่านได้มาพักเมื่อ พ.ศ. 2484 ตามที่คณะของโยมแม่นุ่ม ชุวานนท์ อุบาสิกาท่านสำคัญที่อุปฐากคณะพระกรรมฐานตลอดมาได้อาราธนาท่านไว้ และหลวงปู่มั่นยังได้เลือกวัดนี้เป็นที่ที่ท่านจะมามรณภาพ เพราะท่านเห็นว่าการที่ท่านมรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองผือจะต้องมีงานศพของท่านที่คนจะต้องมีผู้คนมากันมากทั้งยังเป็นการลำบากชาวบ้านหนองผือที่เป็นบ้านเล็กจะต้องล้มวัวล้มควายมาจัดเลี้ยงคนมากมาย เป็นการเบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์น้อย ซึ่งที่วัดป่าสุทธาวาสอยู่ในตัวเมืองมีตลาดอยู่ใกล้ๆ ไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเพื่อท่าน เป็นความเมตตาอันบริสุทธิ์ของท่านจริงๆ แม้จะสิ้นสังขารแล้วก็มิต้องการให้สังขารนี้ไปเบียดเบียนใครอีก

พวกเราแวะไปถ่ายรูปกันที่พระอุโบสถก่อน ซึ่งพระอุโบสถหลังนี้สร้างบนสถานที่ที่เคยเป็นเมรุชั่วคราวที่ถวายพระเพลิงสรีระของท่านแล้วจึงไปที่พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ด้านในมีรูปหล่อหลวงปู่มั่นเป็นประธาน ซึ่งข้าพเจ้าประทับใจรูปหล่อองค์นี้มากตั้งแต่เห็นในภาพแล้วเพราะรูปหล่อนี้คล้ายองค์ท่าน ทำหน้าใบหน้าท่านได้ดุอย่างที่ข้าพเจ้าได้จินตนาการไว้ ด้านหน้าประดิษฐานอัฐิธาตุที่บางองค์ยังคงสภาพเป็นกระดูก มิชิ้นใหญ่ที่เป็นกระดูกส่วนหัวไหล่แปรสภาพเป็นแก้วสีขุ่นๆ นอกนั้นเป็นแบบเม็ดกลมเนียนสีพิกุลที่มีหลายชิ้น รอบๆ เป็นตู้แสดงบริขารต่างๆ ขององค์ท่านที่ข้าพเจ้าได้ถ่ายรูปไว้ทุกชิ้นได้ละเอียดละออทีเดียว


หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่น
ต่อมาพวกเราได้ไปที่ศาลาใหญ่ ซึ่งตอนนี้ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่นที่จะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดป่าวิสุทธิธรรมต่อไป และยังได้พบกับท่านพระครูอภัยธรรมสุนทร ( พระอาจารย์มหาพรหมา จัตตภโย ) รองเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ได้กราบเรียนแนะนำท่านถึงเว็บหลวงปู่มั่นที่ข้าพเจ้าจัดการอยู่ ซึ่งท่านได้อนุโมทนาและนำแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งท่านเป็นคณะผู้จัดทำหนังสือบูรพาจารย์ด้วย ที่นี่เองยังได้พบกับคณะถ่ายทำสารคดีหลวงปู่มั่น กำลังบันทึกภาพหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่นอยู่ ได้สอบถามจึงทราบว่าทางคณะกำลังจะทำสารคดีประวัติครูบาอาจารย์พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งได้ถ่ายทำไปแล้วอย่างหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เทสก์ ซึ่งจะได้ออกอากาศในปีหน้านี้ พวกเราได้แลกเปลี่ยนแนะนำข้อมูลกันพอสมควรจึงได้ขอลามาที่เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย


ทีมงานถ่ายทำสารคดีประวัติหลวงปู่มั่น

จันทสารเจติยานุสรณ์ คือนามของเจดีย์พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่หลุย จันทสาโณ เหตุที่สร้างที่วัดป่าสุทธาวาสเพื่อสนองพระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า " ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้มีอัฐิธาตุพของระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านจะได้อยู่ใกล้กัน "


หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่หลุย

อัฐิธาตุ


จันทสารเจติยานุสรณ์


บริขาร

เครื่องใช้ต่างๆ

ชั้นล่าง

วัดพระธาตุเชิงชุม
เจดีย์นี้มี 2 ชั้นชั้นแรกมีลายมือชื่อหลวงปู่หลุยสลักบนหินแกรนิกสีดำ รอบๆ ห้องเป็นภาพเขียนลายลดน้ำสีทองเป็นรูปพุทธประวัติ ประวัติการก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติในประเทศไทย และภาพเขียนหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่หลุย ชั้น 2 ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่หลุย ด้านหน้าของฐานประดิษฐานอัฐิธาตุมีลักษณะเป็นสีขาวเป็นโพรงแบบประการัง และมีตู้แสดงบริขารของท่าน อีกตู้เป็นของใช้บางอย่างของท่าน เช่น เครื่องมือช่าง สมุดบันทึก ยาประจำตัวพวกยาอม ยาดม ยาหม่อง ปัจจุบันโมเสกที่ประดับภายนอกเจดีย์เริ่มหลุดล่อนแล้ว

หนองหาน

ครอบครัวบุตรดีผู้อุปถัมป์การเดินทางครั้งนี้

พวกเราได้ไปกราบอำลาที่พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นเนื่องจากเย็นมากแล้ว พวกเราประกอบด้วย น้องกอล์ฟ น้องเตียงและข้าพเจ้า ทำวัตรสวดมนต์และนั่งสมาธิบูชาท่านเป็นครั้งสุดท้าย ได้ไปแวะที่หนองหานแหล่งน้ำสำคัญของสกลนคร และวัดพระธาตุเชิงชุมวัดสำคัญประจำจังหวัดสกลนครแล้วจึงเดินทางไปอำลาและขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ของน้องกอล์ฟที่ดูแลพวกเราตลอดการเดินทาง แล้วจึงเดินทางไปที่สถานีขนส่งเพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงเทพ จบการเดินทาง 3 วัน 2 คืนในการตามรอยธรรมหลวงปู่มั่นเพียงเท่านี้ครับ

< หน้าก่อน  บทสรุป >

www.luangpumun.org