๒๖ เมษายน ๒๕๔๔
หน้าที่ ๑

บิณฑบาตยามเช้า
เช้าวันที่ 3 วันสุดท้ายในสกลนคร รีบลงจากุฏิตอนตีห้าครึ่งเพื่อไปรับบาตรที่ศาลาใหญ่ แล้วตามออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้านเวลา 6.00 น. ข้าพเจ้าได้รับบาตรของพระในวัด 2 ใบ ส่วนน้องเตียงได้บาตรก็ท่านพระอาจารย์พยุง พอได้เวลาก็ออกจากวัดเดินไปตามถนนลูกลังก่อนจะเข้าหมู่บ้านจะมีศาลาสำหรับให้พระเณรพักและสะพายบาตรก่อนเข้าหมู่บ้าน ระหว่างบ้านกับวัดจะมีทุ่งนากั้นกลางห่างกันประมาณ 500 เมตร เมื่อเดินทางถึงบ้านหลังแรกที่เป็นต้นทางเเข้าสู่หมู่บ้าน ก็จะตีเกาะสัญญาณให้คนในหมู่บ้านออกมาใส่บาตรได้แล้ว ก็จะมีชาวบ้านมายืนรอใส่บาตรกันเป็นแถวประมาณสัก 100 คน โดยที่พระไม่ต้องไปเดินตามบ้านเลย สอดคล้องกับที่หลวงปู่หล้า เขมปัตโตได้บันทึกไว้ในประวัติของท่านช่วงที่มาพักที่วัดป่าบ้านหนองผือว่า

บรรยากาศตักบาตรยามเช้า

" เรื่องบิณฑบาตพอหกโมงเช้า ธรรมเนียมบ้านหนองผือ เขาก็ตีขอไม้ตะเคียนเป็นสัญญาณดังไกล เป็นสามบทติดๆ กัน หมายความว่าพอเตรียมตัวใส่บาตรแล้วพวกเราชาวบ้าน แต่พอพระผ่านละแวะบ้านเขาก็ตีขออีกสามบท เขารวมกันกันเป็นกลุ่มยืนเรียงรายกันเป็นทิวแถว แต่ละกลุ่มเขามีผ้าขาวปูม้ายาวๆ ไว้เรียบ ส่วนม้านั่งของหลวงปู่มั่น เขาทำพิเศษต่างหากสูงกว่ากัน พอยืนรับบาตแล้วก็นั่งให้พรเขาพร้อมกัน ไปกลุ่มอื่นอีกก็เหมือนกัน มีสามกลุ่มแล้วก็กลับวัด หลวงปู่มั่นค่อยกลับทีหลัง กับพระผู้ติดตามองค์หนึ่งตามหลังกลับมาด้วย มีโยมผู้ชายรับบาตรพระผู้ใหญ่มาวัด วันละสี่ห้าหกคนไม่ขาด ฝ่ายพระผู้น้อยที่กำลังถือนิสัยและเณรก็ดีรีบกลับให้ถึงวัดก่อน เพื่อจะได้ทันข้อวัตรของครูบาอาจารย์เป็นต้นว่าล้างเท้าเช็ดเท้า รับผ้าสังฆาและจีวร หรือเตรียมแต่งบาตรแต่งพกเป็นต้น "

สำหรับเรื่องม้านั่งที่หลวงปู่หล้ากล่าวถึงนั้น ปัจจุบันไม่มีแล้วพระสงฆ์จะกลับไปสวดให้พรที่วัดแทน ข้าพเจ้าประทับใจกับภาพการใส่บาตรยามเช้านี้มาก ถึงแม้บ้านนี้จะอยู่ในถิ่นที่ห่างไกลความเจริญแต่ทุกคนก็เรียบร้อยดีและมีเป็นจำนวนมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ข้าพเจ้ายังสังเกตเห็นมีแม่ลูกอ่อนนำลูกเล็กๆ ของตนมาจับพนมมือไหว้พระที่ชานบ้านด้วย ยังมีหลวงตาท่านหนึ่งซึ่งท่านบวชมาจากจันทบุรีได้มาแวะนักปฏิบัติธรรมที่นี่ ท่านเองก็ยังปรารภชื่นชมชาวบ้านหนองผือให้ข้าพเจ้าฟังว่าประทับใจและไม่เคยเห็นที่ไหนศรัทธาขนาดนี้มาก่อนเลย แล้วท่านยังตั้งใจอยู่โปรดญาติโยมวัดนี้ไปอีกนานๆ สมดังที่หลวงปู่มั่นได้เลือกวัดนี้ให้เป็นสถานที่วาระสุดท้ายในชิวิตของท่านติดต่อกันถึง 5 พรรษา แล้วถึงแม้องค์ท่านจะจากวัดนี้ไปถึง 50 กว่าปีแล้ว แต่สิ่งดีดีที่เคยพากันปฏิบัติก็ยังมีอยู่เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน

 

พอกลับถึงวัดก็ได้ชวนกันประเคนของพระ แล้วก็กลับออกมาสำรวจวัดอีกครั้ง ได้เดินไปที่ศาลาโรงธรรมหลังเก่าสมัยหลวงปู่มั่นเป็นที่ที่ท่านใช้ทำอุโบสถ อบรมญาติโยม และยังเป็นที่ที่ท่านได้จำวัดในระยะแรกด้วยเป็นศาลาไม้ทรงไทยใต้ถุนสูง ด้านข้างเป็นกุฏิที่ใช้รับรองพระเถระที่มากราบนมัสการหลวงปู่มั่นตั้งแต่ พ.ศ. 2488
มี 2 ห้อง ชานของกุฏิเชี่ยมติดกับศาลา


ศาลาโรงธรรมหลังเก่า

ด้านบน

ด้านหน้าศาลาหลังเก่าคือศาลาโรงฉันหลังเก่าที่หลวงปู่มั่นได้ใช้ฉันภัตตาหารตลอด 5 ปีที่จำพรรษาที่นี่ เป็นศาลาใต้ถุนสูงมีชานด้านหน้า กว้างประมาณ 10 เมตรยาว 5 เมตร ด้านข้างเป็นฟากไม่มีพระประธานบนศาลา เสนาสนะเหล่านี้ไม่กว้างขวางใหญ่โตสวยงามเลย แต่องค์ท่าใช้ได้คุ้มค่าจริงๆ


ศาลาโรงฉันเก่า

ด้านบน

แล้วก็ได้ขึ้นไปสำรวจที่ศาลาใหญ่หลังปัจจุบันที่ใช้เป็นที่ฉันภัตตาหาร ส่วนชั้น 2 ใช้สำหรับลงอุโบสถฟังเทศน์ฟังธรรม มีพระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ จากการสอบถามคุณตาธงได้รับรองว่าพระประธานองค์นี้เป็นองค์เก่าทันหลวงปู่มั่นได้กราบไหว้ นอกจากนี้ก็ยังเป็นที่เก็บหนังสือธรรมะต่างๆ บางเล่มข้าพเจ้าก็เห็นครั้งแรกที่นี่เป็นคลังความรู้สำคัญของพระกรรมฐาน


ศาลาใหญ่หลังปัจจุบัน

พระประธานบนศาลาใหญ่

ต่อมาข้าพเจ้าและคณะจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์พยุง องค์ท่านได้เล่าถึงเรื่องเก่าๆ ต่างๆ ภายในวัด เช่น เรื่องบริขารที่ไม่ปรากฏของหลวงปู่มั่น คือลูกประคำขนาดเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ที่มีคนเก่าคนแก่ของบ้านหนองผือท่านหนึ่งได้เข้าไปช่วยเก็บบริขารหลวงปู่มั่นตอนที่ท่านอาพาธแล้วจะย้ายออกไปที่วัดป่าสุทธาวาสและเห็นประคำพวงนี้เข้า ซึ่งตามปกติก็ไม่เคยเห็นท่านใช้ประคำพวงนี้เลย อาจเป็นไปได้ว่ามีใครถวายท่านแล้วท่านก็เก็บไว้อย่างนั้นไม่ได้ใช้อะไร จนท่านใกล้มรณภาพจึงมีผู้ไปพบเข้า แต่ปัจจุบันประคำพวงนี้ได้หายสาบสูญไปแล้วไม่อาจทราบได้ว่าตกไปอยู่กับท่านผู้ใด

ท่านยังได้ปรารภถึงเรื่องอัฐิธาตุหลวงปู่มั่นประจำวัดนี้ที่มีสภาพเป็นแก้วใสประมาณ 4 -5 ชิ้นแต่ละชิ้นมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ที่ปัจจุบันบูชาอยู่ในบุษบกที่ศาลาใหญ่ ท่านเล่าว่าแต่เดิมของวัดก็ไม่มีแต่ได้มาจากญาติโยมของบ้านหนองผือที่ได้รับส่วนแบ่งจากการที่ไปช่วยงานถวายพระเพลิงศพหลวงปู่มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส แล้วนำมาบูชาไว้ที่บ้าน ต่อมาญาติโยมเหล่านี้จึงคิดได้ว่าของสูงขนาดนี้ไม่ควรบูชาไว้เองที่บ้าน ควรจะมาไว้ที่วัดจะเหมาะสมกว่าและจะได้บูชากันเป็นส่วนรวมด้วย ท่านเจ้าอาวาสก็ได้อนุโมทนาและได้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี่ จัดเป็นพระธาตุหลวงปู่มั่นที่แปรสภาพได้งดงามอีกที่หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีอัฐิธาตุและเกษาธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ประดิษฐานร่วมกัน เช่น หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่มหาบัว หลวงปู่คำพอง หลวงปู่อุ่น เป็นต้น

และท่านยังได้เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านหนองผือที่ยังผูกพันธ์กับวัดจนถึงปัจจุบัน เวลามีครูบาอาจารย์จากที่อื่นมาพัก ก็จะมีการตีกลองให้มาฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ ชาวบ้านก็จะจูงลูกจูงหลายวัยรุ่นก็มาฟังด้วย จัดเป็นความบันเทิงในธรรมโดยไม่ต้องมีมหรสพใดใดเลย ชาวบ้านแถบนี้จึงสูงส่งด้วยศีลธรรม แม้แต่สมัยก่อนคอมมิวนิสต์ก็ไม่สามารถแพร่อิทธิพลมายังบ้านนี้ได้ สุดท้ายจึงขอโอกาสหลวงพ่อถ่ายรูปกับหลวงพ่อเพื่อเป็นที่ระลึกด้วย


หลวงพ่อ กับน้องกอล์ฟและน้องเตียง

พวกเราเดินไปกราบที่กุฏิหลวงปู่มั่นเป็นครั้งสุดท้าย คุณแม่ของน้องกลอ์ฟได้ชี้ที่ที่เคยเป็นส้วมเก่าที่อดีตสมัยคุณแม่ยังเด็กยังมีปล่องละบายอากาศโผล่ขึ้นมาอยู่ คุณแม่ได้เคยทดลองดมที่ปล่องนี้ดูปรากฏว่าหอมดั่งกลิ่นธูปที่ปัจจุบันทางวัดได้เทปูนทับลงไปแล้ว เพราะเกรงชาวบ้านจะมาขุดหากัน

 

< หน้าก่อน  วันต่อไป >

www.luangpumun.org