การมาอยู่บ้านนาสีนวลนี้ถือว่าเป็นการพักผ่อนของท่าน ตามธรรมดาท่านก็พักผ่อนอยู่แล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหน แต่การอยู่ในหมู่บ้านใหญ่ พระภิกษุสามเณรก็จะมาพักเพื่อศึกษามาก เป็นการกังวลในการดูแลแนะนำสั่งสอน เมื่อมาอยู่บ้านนาสีนวล พระภิกษุสามเณรมาอยู่มากไม่ได้ เพราะเป็นบ้านเล็ก จึงถือว่าเป็นการพักผ่อน ในกาลบางครั้งพระภิกษุสามเณรผู้อยู่โดยรอบไม่ไกลนัก ก็ถือโอกาสเข้ามานมัสการเพื่อรับโอวาทจากท่านเป็นครั้งคราว..." และยังมีเหตุการณ์สำคัญ คือ องค์ท่านอาพาธด้วยโรคมาเลเรีย ท่านได้อนุญาตให้พระอาจารย์วิริยังค์จำวัดในห้องเดียวกับท่านได้เพื่อจะได้อุปฐากอาการอาพาธของท่านอย่างใกล้ชิดซึ่งองค์ท่านไม่เคยอนุญาตให้ใครมาก่อนเลย ในช่วงนี้เองที่พระอาจารย์วิริยังค์ได้สังเกตกิจวัตรในช่วงอาพาธขององค์หลวงปู่มั่นบันทึกไว้ใน " ใต้สามัญสำนัก " ดังนี้
"... ข้าพเจ้าต้องอัศจรรย์มากทีเดียว ในขณะที่ได้เข้าไปอยู่ในห้องเดียวกับท่าน คือเห็นท่านตื่นตอนตี ๓ ( ๓.๐๐ น. ) ทุกวันเลยทีเดียว ผู้เขียนก็ได้ตั้งใจและคอยระวังอยู่ จึงตื่นพอดีกับท่าน เพื่อคอยปฏิบัติในขณะที่ท่านตื่นขึ้นล้างหน้า ต่อจากนั้นก็นั่งกัมมัฎฐานไปจนตลอดแจ้ง ผู้เขียนคิดว่าท่านก็กำลังป่วยยังไม่หายสนิท แต่ทำไมจึงยังบำเพ็ญกัมมัฏฐาน พักเพียง ๔ - ๕ ชั่วโมงเท่านั้นและยิ่งคิดหนักต่อไปว่า ก็ในเมื่อท่านได้บำเพ็ญมาอย่างหนักแล้ว และรู้ธรรมเห็นธรรมตามสมควรแล้ว เหตุไฉนท่านยังมิละความเพียรของท่านเลย อันที่จริงท่านไม่ต้องทำก็เห็นจะไม่เป็นไร เพราะท่านทำมามากพอแล้ว ซึ่งในวันหนึ่งผู้เขียนอดไม่ได้ต้องถามท่านว่า " ท่านอาจารย์ครับ ขณะนี้ท่านอาจารย์ก็ไม่ค่อยสบาย ควรจะได้พักผ่อนให้มากกว่านี้ จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น " แต่แล้วก็ได้รับคำตอบว่า " ก็ยิ่งไม่สบาย คนเรามันใกล้ตาย ก็ต้องยิ่งทำความเพียรโดยความไม่ประมาท แม้เราจะเป็นผู้ได้รับการฝึกฝนมามากแล้ว แต่ก็ต้องทำและยิ่งมีความรู้สึกภายในว่าต้องทำให้มาก เช่นเดียวกับเศรษฐี แม้จะมีทรัพย์มาก ก็ยิ่งต้องทำมาก วิริยังค์ สมาธิมันเป็นเพียงสังขารไม่เที่ยงหรอก ความจริงแห่งสัจธรรมจึงจะเป็นของเที่ยง และการกระทำความเพียรนี้ยังชื่อว่าทำเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ทั้งหลายด้วย " ทำเอาผู้เขียนขนลุก ปิติซู่ซ่าไปหมด ทั้งคิดว่าท่านแม้จะมีคุณธรรมสูง ท่านก็มิได้เอาตัวรอดแต่ผู้เดียว ยังต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อบุคคลอื่นอย่างน่าสรรเสริญ ... " นอกจากหลวงปู่มั่นแล้วยังมีหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโทได้มาจำพรรษาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๖ - ๒๔๘๙ อีกด้วย
|
|||||||||||