ท่านพระอาจารย์มั่น มาบ้านหนองผือ ปี พ.ศ. ๒๔๘๘
|
ต่อมาข่าว ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ซึ่งธุดงค์จำพรรษาอยู่ทางภาคเหนือเป็นเวลาหลายปี
ท่านได้รับนิมนต์จากพระเถระทั้งหลายทางภาคอีสาน ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ของท่านในขณะนั้นให้มาโปรดชาวภาคอีสาน
เมื่อท่านตกลงรับนิมนต์แล้ว ท่านก็ได้เดินทางกลับภาคอีสาน โดยแวะพักอยู่ที่วัดป่าสาลวัน
จังหวัดนครราชสีมา และวัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี จนกระทั่งถึงจังหวัดสกลนคร
อันเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกับเทือกเขาภูพานเหมาะสำหรับผู้ต้องการแสวงหาความสงบวิเวกเป็นอย่างมาก |
ส่วนพระอาจารย์หลุย
จนฺทสาโร ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่ง ขณะนั้นท่านยังพักทำความเพียรอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ
ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมาถึงเขตจังหวัดสกลนครแล้ว และพักวิเวกอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านม่วงไข่ผ้าขาว
(ขณะนี้อยู่ในเขตอำเภอพังโคน) เมื่อท่านทราบแน่นอนแล้ว จึงได้ชักชวนพาญาติโยมทายกวัดป่าบ้านหนองผือ
๔ ๕ คน ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นที่นั่น (เดินทางหนึ่งวันและพักค้างคืนกับท่านสามคืน)
ถึงแล้วเข้าไปกราบนมัสการท่านเรียบร้อย จึงได้พูดคุยสนทนากันตามประสาลูกศิษย์กับอาจารย์เสร็จแล้วกราบลาแยกย้ายกันไปหาที่พักตามอัธยาศัย
เมื่อตอนขากลับคณะของพระอาจารย์หลุยได้เข้าไปกราบลาท่านพระอาจารย์มั่น
ซึ่งมีตอนหนึ่งที่ท่านได้กล่าวว่า แถวอื่น ๆ เคยไปหมดแล้ว แต่ไม่รู้เป็นอย่างไรตรงหุบเขาบริเวณบ้านหนองผือนั้น
ยังไม่เคยได้เข้าไป เอาล่ะ ถ้ามีโอกาสก็จะเข้าไป ท่านพูดคุยสนทนากันพอสมควรแก่เวลา
เสร็จแล้วคณะของพระอาจารย์หลุยจึงถือโอกาสกราบลาท่านกลับบ้านหนองผือ
เมื่อคณะของพระอาจารย์หลุยกลับบ้านหนองผือแล้ว ภายหลังต่อมาไม่นานก็ได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์หลุยกลับบ้านหนองผือแล้ว
ภายหลังต่อมาไม่นานก็ได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นเดินธุดงค์ มาพักวิเวกอยู่ที่พักสงฆ์บ้านห้วยแคน
ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนครในปัจจุบันนี้ พระอาจารย์หลุย
เมื่อได้โอกาสเช่นนี้จึงสั่งให้ โยมพ่อออกพุฒ ซึ่งเป็นทายกวัดมาที่วัดโดยเร็วไว
เพื่อมอบหน้าที่ให้ไปกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งขณะนั้นพักอยู่ที่บ้านห้วยแคนมาบ้านหนองผือโดยรีบด่วน
ให้ทันก่อนที่จะเข้าพรรษา
โยมพ่อออกพุฒมาที่วัดป่าบ้านหนองผือรับคำสั่งจากพระอาจารย์หลุย
เมื่อเข้าใจแล้วจึงกลับไปชวนนายดอนลูกชายไปเป็นเพื่อเดินทาง เมื่อตระเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในการเดินทางเสร็จแล้ว
รุ่งเช้าวันใหม่สองคนจึงออกเดินทางด้วยกำลังฝีเท้า เพราะสมัยนั้นยังไม่มีรถราใช้ในการเดินทาง
ไปถึงบ้านห้วยแคนเป็นเวลาค่ำมืดพอดี จึงพักนอนค้างคืนที่บ้านห้วยแคนหนึ่งคืน
ตอนเช้าจึงเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นในวัดที่ท่านพักอยู่ และเล่าเรื่องราวความเป็นมาต่าง
ๆ ให้ท่านทราบ แล้วถือโอกาสกราบอาราธนานิมนต์ท่าน ท่านก็รับนิมนต์ว่า
จะมา แต่วันนั้นยังมาไม่ได้ เพราะมีของสัมภาระหลายอย่าง แต่คนที่จะช่วยขนของมีน้อย
โยมพ่อออกพุฒพร้อมลูกชายจึงกราบลาท่าน รีบกลับบ้านหนองผือมาก่อน เพื่อมาบอกชาวบ้านให้ไปช่วยขนของและส่งคนไปรับท่านด้วย
เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว จึงรีบไปรายงานให้พระอาจารย์หลุยทราบ พระอาจารย์หลุยท่านเป็นผู้คอยแนะนำ
วางแนวปฏิบัติให้กับญาติโยมชาวบ้านหนองผืออยู่เบื้องหลัง ท่านได้สั่งให้เกณฑ์โยมคนหนุ่ม
ๆ แข็งแรงเพื่อไปขนของ เครื่องใช้ สัมภาระต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับองค์ท่านพระอาจารย์มั่น
ตลอดทั้งของใช้อย่างอื่น ๆ ด้วย ในที่สุดก็เกณฑ์บุคคลได้ ดังรายนามที่รวบรวมได้ดังต่อไปนี้
โยมฝ่ายผู้เฒ่า ได้แก่
๑. พ่อออกทิศสร้าง พิมพ์บุตร
๒. พ่อออกพัน เทพิน
๓. พ่อออกสีลา เทพิน
๔. พ่อออกเชียงแสน ชาตะรักษ์
๕. พ่อออกอุ่น จันทะวงษา (ชาวบ้านหนองผือ ผู้ถ่ายทอด และเล่าเรื่องในเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาพักที่วัดป่าบ้านหนองผือเป็นโยมอุปัฏฐากรับใช้สมัยท่านพระอาจารย์มั่น
ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)
ฯลฯ
โยมฝ่ายคนหนุ่ม ได้แก่
๑. นายกอง เณธิชัย
๒. นายแก้ว เทพิน
๓. นายสงค์ สีเหลือง
๔. นายนอ เณธิชัย
๕. นายพรหมา โพธิ์ศรี
๖. นายบุญเลิง เทพิน (ชาวบ้านหนองผือ
ผู้ถ่ายทอดและเล่าเรื่องในเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษา ปัจจุบัน (พ.ศ.
๒๕๔๔) เป็นพระภิกษุ อยู่วัดป่าบ้านหนองผือ)
๗. นายโส เทพิน
เมื่อทุกคนทราบแล้ว
จึงจัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในการเดินทางอย่างเรียบร้อย พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็พากันออกเดินทาง
ฝ่ายพระอาจารย์หลุย ท่านคงทราบอุปนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นเหมือนกัน
คือปกติท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจะไม่พักสำนักวัดป่าที่มีพระสงฆ์กำลังพักอยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้นพระอาจารย์หลุย จึงให้พระเณรที่พักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือทุกรูปออกไปอยู่ข้างนอกหมด
หมายความว่าให้ไปอยู่วัดรอบนอก ซึ่งไม่ห่างจากวัดป่าบ้านหนองผือเท่าไรนัก
ทำทีให้เป็นสำนักวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์อยู่เสียก่อน ภายหลังจึงค่อยทยอยกันเข้ามาใหม่
สำหรับพวกโยมที่ส่งไปให้เดินทางไปรับท่านพระอาจารย์มั่น
เดินทางด้วยฝีเท้าออกจากบ้านหนองผือไป ผ่านบ้านผักคำภูและบ้านลาดกะเฌอ
ไปนอนพักค้างคืนที่บ้านนากับแก้ ออก จากบ้านนากับแก้ไปถึงบ้านห้วยแคนเป็นเวลาประมาณ
๔ ๕ โมงเย็น คณะญาติโยมจึงพากันไปขอพักนอนที่โรงเรียน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสำนักที่พักของท่านพระอาจารย์มั่นมากนัก
เมื่อได้ที่พักเรียบร้อยแล้ว คณะโยมผู้เฒ่า ๔- ๕ คนจึงถือโอกาสไปที่วัด
เพื่อกราบนมัสการและอาราธนาท่านด้วย เมื่อท่านรับนิมนต์แล้ว ได้พูดคุยสนทนาพอสมควรแก่เวลา
คณะโยมผู้เฒ่าก็กราบลากลับที่พักของตน
พอรุ่งเช้าเมื่อพระออกบิณฑบาต
คณะโยมบ้านหนองผือก็ออกจากที่พักของตนไปที่วัด เพื่อรอขนสิ่งของเครื่องใช้ต่าง
ๆ ที่ท่านจัดเตรียมไว้แล้วไปด้วย เสร็จแล้วจึงพากันออกเดินทางกลับบ้านหนองผือ
โดยคณะพวกโยมหนุ่ม ๆ ได้ขนของหนักหน่อยเดินทางล่วงหน้ามาก่อน สำหรับคณะของท่านพระอาจารย์มั่นนั้นค่อย
ๆ เดินทางมาทีหลัง เพราะเป็นคณะของคนชรามีพระอุปัฏฐากติดตามท่านอีก ๕
รูป คือ พระอาจารย์มนู พระอาจารย์สอ พระอาจารย์หนู พระอร่าม พระเดือน
พร้อมกับโยมผู้เฒ่าที่ไปรับท่านอีก ๔ ๕ คน เดินทางด้วยฝีเท้ามาเรื่อย
ๆ มาพักนอนค้างคืนที่ป่าใกล้บ้านลาดกะเฌอและบ้านกุดน้ำใส
ส่วนพระอาจารย์หลุยได้ทราบข่าวว่า
คณะของท่านพระอาจารย์มั่นมาถึงบ้านกุดน้ำใสแล้วได้พักนอนที่นั่นหนึ่งคืน
และขณะนี้ท่านกำลังเดินทางมาที่วัดป่าบ้านหนองผือแล้วด้วย พระอาจารย์หลุยจึงชวนญาติโยมรีบเดินทางไปรับท่าน
และได้พบคณะของท่านพระอาจารย์มั่นในระหว่างทาง จึงเข้าไปกราบนมัสการและช่วยขนของบางสิ่งบางอย่างที่พอจะช่วยได้
แล้วเดินทางกลับมาพร้อมกับคณะของท่านพระอาจารย์มั่น จนถึงวัดป่าบ้านหนองผือรวมเวลาในการเดินทางประมาณ
๔ คืน ๕ วัน เมื่อมาถึงวัดป่าบ้านหนองผือก็นิมนต์ให้ท่านขึ้นพักอยู่กุฏิหลังหนึ่งที่เห็นว่าถาวรที่สุดในสมัยนั้น
อยู่ตรงบริเวณใกล้ ๆ ใต้ต้นไม้พะยอม ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของศาลาหลังใหญ่ในขณะนี้
หลังจากนั้นท่านก็ได้อยู่พักผ่อนทำความเพียรตามอัธยาศัย
พร้อมทั้งได้อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรตลอดทั้งญาติโยมมาเรื่อย ๆ พระภิกษุสามเณรก็เริ่มทยอยมากันมากขึ้น
จนกระทั่งใกล้จะเข้าพรรษา ท่านจึงได้ย้ายจากกุฏิหลังที่อยู่เดิม ขึ้นไปอยู่ที่ห้องบนศาลาสวดมนต์หลังเก่าซึ่งมองเห็นอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลาหลังใหญ่ในขณะนี้
เพื่อให้สะดวกในการต้อนรับพระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งญาติโยมที่มากราบนมัสการท่าน
เพราะเป็นสถานที่กว้างขวางพอสมควรจนออกพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วก็มีพระภิกษุสามเณรเข้าไปกราบฟังเทศน์กับท่านบ้างเข้าไปพักฝึกฝนอบรมข้อวัตรปฏิบัติกับท่าน
หรือเข้าไปปรึกษาหรือแก้ไขปัญหา ข้อสงสัยในธรรมะต่าง ๆ บ้าง ทั้งนี้มีพระภิกษุระดับชั้นผู้ใหญ่เป็นท่านเจ้าคุณถึงมหาเถระ
จนระดับเล็กถึงสามเณรน้อย ตลอดทั้งอุบาสกอุบาสิกา (แต่ยังมีไม่มาก) ทยอยกันเข้ามาทุกสารทิศ
แม้สมัยนั้นบ้านหนองผือยังเป็นที่ทุรกันดารมาก
ทางสัญจรไปมาก็ลำบากเพราะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่แอ่งเขา จะเข้าจะออกต้องเดินด้วยกำลังฝีเท้าข้ามภูเขา
มิฉะนั้นก็ต้องนั่งเกวียนอ้อมเขาไปออกทางบ้านห้วยบุ่น บ้านนาเลา ทะลุถึงบ้านนาเชือก...
โคกกะโหล่ง แล้วโค้งอ้อมไปทางบ้านอุ่มไผ่... บ้านกุดก้อม หรือไปทางบ้านโคกเสาขวัญจนถึงเมืองพรรณานิคมโค้งอ้อมไปโน้น
ถึงอย่างนั้นผู้คนก็ยังอุตส่าห์พยายามดั้นด้นเดินทางเข้าไปนมัสการท่านโดยไม่เกรงกลัวอันตรายใด
ๆ ทั้งสิ้นในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ร้าย พวกเสือ พวกหมี พวกงู
และไข้มาลาเรียก็ตามไม่ได้คำนึงถึง เพราะอรรถธรรมกิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่น
ผู้ที่เดินทางเข้าไปส่วนมากเป็นพระภิกษุสามเณร บางท่านก็ไปพัก ๓ วัน
๗ วัน ๑๕ วัน บางท่านก็อยู่จำพรรษา พอออกพรรษาแล้วก็เที่ยวเดินธุดงค์ต่อไป
บางท่านก็อยู่จำพรรษาประจำกับองค์ท่านตลอดจนท่านนิพพานก็มี สร้างกุฏิถวายท่านพระอาจารย์มั่น
พ.ศ. ๒๔๘๙ ญาติโยมชาวบ้านหนองผือ คิดอยากจะสร้างกุฏิถาวรถวายท่านพระอาจารย์มั่นสักหลังหนึ่ง
จึงพากันไปขออนุญาตจากท่าน ตอนแรกท่านไม่อนุญาตให้สร้าง ท่านว่า แค่นี้ก็พออยู่แล้ว
ต่อมาอีกไม่นานญาติโยมก็ไปขอท่านสร้างอีกเป็นครั้งที่สอง ท่านก็ไม่อนุญาต
พอครั้งที่สามท่านจึงอนุญาตให้สร้าง
เมื่อท่านอนุญาตแล้วญาติโยมจึงพากันจัดเตรียมหาเครื่องสัมภาระที่ใช้ในการก่อสร้าง
เช่น ไม้เสาก็ได้จากชาวบ้านที่มีศรัทธาบริจาคให้บ้างจนครบ นอกจากนั้นก็จัดหาเครื่องประกอบและอุปกรณ์อย่างอื่น
ๆ เช่น ไม้ทำขื่อ แป ตง กระดานฝา และกระดานพื้น ตลอดทั้งไม้กระดานมุงหลังคาจนครบทุกอย่างเช่นกัน
ไม้ที่ได้มาเหล่านี้บางส่วน ได้มาจากการที่ญาติโยมพร้อมครูบาอาจารย์พระเณรในวัดช่วยกันจัดหามา
ส่วนที่ยังไม่พอจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะต้องป่าวร้องให้ลูกบ้านช่วยกันจัดหามาจนเพียงพอ
จึงลงมือปลูกสร้างได้ เพราะการทำงานทุกอย่างต่อหน้าพระอาจารย์มั่นนั้น
จะต้องระมัดระวังคิดให้รอบคอบ อย่าให้งานนั้นยืดเยื้อ ยาวนานหรือสะดุดหยุดลงเสียกลางคัน
ให้งานนั้นทำไปเป็นช่วง ๆ และเรียบร้อย จึงจะสมที่ตนเองมีศรัทธาอยากจะสร้างจริง
ๆ
เมื่อวันลงมือปลูกสร้างนั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นยังได้ไปเดินดูงานเองด้วย บางครั้งท่านก็ตอกตะปูเอง
บางครั้งท่านก็แนะให้โยมผู้เป็นช่างทำตามที่ท่านต้องการ เช่น ไม้กระดานมุงหลังคาท่านบอกว่า
อย่าทำเป็นรูปทรงปลายแหลมมันไม่งาม ให้ทำเป็นรูปทรงปลายครึ่งวงกลมมันจึงงาม
(เดิมไม้กระดานมุงหลังคาจะเป็นแผ่น ๆ ที่ผ่าจากท่อนซุง ซึ่งตัดเป็นท่อนยาวขนาดช่วงแขนหนึ่ง
แต่ละแผ่นผ่ากว้างประมาณคืบกว่า ๆ ก่อนจะเอาขึ้นมุงหลังคา เขาจะต้องใช้มีดพร้าโต้ที่คมซ่อนปลายข้างหนึ่งเสียก่อน
ทำเป็นรูปทรงปลายแหลมก็มี ทำเป็นรูปทรงปลายครึ่งวงกลม แล้วแต่จะชอบแบบไหน
แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านชอบแบบทรงปลายครึ่งวงกลม จึงสั่งให้โยมทำแบบทรงครึ่งวงกลม)
วันหนึ่งโยมคนงานที่มาทำงาน
บางคนนั่งคุยกัน บางคนนอนคุยกันไปด้วย พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็น ท่านก็เดินดิ่งเข้าไปที่โยมซึ่งกำลังนั่งนอนคุยกันอยู่นั้น
พร้อมพูดขึ้นว่า โยมเป็นอะไรหรือ? ป่วยไข้ไม่สบายหรือ? ถ้าป่วยก็ขึ้นไปนอนซะที่บ้าน
ไม่ต้องมานอนที่นี่ พอโยมกลุ่มนั้นได้ฟังแล้วก็แตกตื่นออกจากกลุ่ม ไปจับงานนั้นบ้างงานนี้บ้าง
พอแก้เก้อ ต่อมาไม่มีใครกล้ามานั่งนอนคุยกันอู้งานอย่างนี้อีกเลย จนกระทั่งกุฏิเสร็จขึ้นเป็นหลังเรียบร้อยดังที่พวกเราท่านทั้งหลายเห็นเป็นที่ระลึกอยู่จนทุกวันนี้
กุฏิท่านพระอาจารย์มั่นหลังนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้า
ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหินลาด
บ้านนาใน และห้วยผึ้ง บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
ต่อมากุฏิหลังนี้ได้จดทะเบียนขึ้นกับกรมศิลปากร เป็นโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๒๒
< หน้าก่อน หน้าต่อไป
>