ปกิณกธรรม ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตเถร
  หน้า : [ 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | หน้าหลัก ]

 

ปกิณกธรรม
ของ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถร

         นับแต่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถร พำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ติดต่อกันมา ๕ พรรษา นั้น (ปี ๒๔๘๘-๒๔๙๒) ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับชาวบ้านหนองผือหลายเหตุการณ์ ด้วยเมตตาธรรมของ ท่าพระอาจารย์มั่น ท่าได้อนุเคราะห์อบรมสั่งสอนและปลูกฝังในหลักปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาให้ แก่ชาวบ้านหนองผือและศรัทธาญาติโยม รวมทั้งฆราวาสจากที่อื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นคติธรรม สอนใจแก่บุคคล ที่เกิดภายหลัง เรื่องราวที่นำมาเล่านี้ ได้หยิบมายกมาจากคนเฒ่าคนแก่ที่เคยใกล้ชิดปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน พระอาจารย์มั่น และนำมาจากท่านที่เคยประสบเหตุการณ์และเล่าเรื่องสืบต่อกันมาบ้าง เหตุการณ์ที่นำมาเล่านั้น อาจไมเรียงตามลำดับ แต่จะเล่าตามที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่อง ๆ ไป

๑. ต้อนรับเจ้าคุณพระราชาคณะ

         มีท่านเจ้าคุณพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งระดับรองเจ้าคณะมณฑลเคยเป็น ลูกศิษย์ของท่านพำนักอยู่วัดที่กรุงเทพมหานคร อยากจะเข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ข่าวคราวนี้รู้สึกว่าเป็นงานที่ใหญ่โตมโหฬารยิ่ง ระดับคณะสงฆ์ของจังหวัดสกลนคร เลยทีเดียว และเป็นงานที่มียศมีเกียรติมากของข้าราชการ ตลอดทั้งชาวบ้านหนองผือและหมู่บ้านใกล้เคียง ในสมัยนั้น ต่างก็จะได้ต้อนรับพระราชาคณะระดับสูงสักครั้งหนึ่ง เพราะนาน ๆ ทีจึงจะได้มีงานต้อนรับ พระราชาคณะชั้นสูง ที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานครเข้ามาเยี่ยมเยียนชาวบ้านนอกคอกนาอย่างพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจึงมีความปลื้มปีติใจอย่างมาก

       ในที่สุดข่าวทางอำเภอพรรณานิคมสั่งมาให้คณะสงฆ์ในเขตตำบลนาใน พร้อมทั้งข้าราชการครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้าน ให้ตระเตรียมจัดการต้อนรับท่านอย่างเป็นทางการ จากนั้นชาวบ้านหนองผือ และหมู่บ้านใกล้เคียงจึงได้จัดเตรียมขบวนต้อนรับอย่างสมเกียรติ มีประชาชนคนเฒ่าคนแก่และหนุ่มสาว ตลอดทั้งพวกเด็ก ๆ ก็ไปด้วย โดยไปรอต้อนรับกันที่ทเข้า ณ บ้านห้วยบุ่น เป็นระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร เพราะท่านเจ้าคุณพระราชาคณะนั้นจะนั่งเกวียนเทียมวัวจากตัวอำเภอพรรณานิคมมาตามทางเกวียน เลาะเลียบเขาและอ้อมเขามาลงที่บ้านห้วยบุ่น ซึ่งเป็นจุดต้อนรับของประชาชนชาวตำบลนาใน

       ไม่นานคณะของท่านเจ้าคุณก็มาถึงและได้เปลี่ยนจากนั่งเกวียนมาขึ้นแคร่หามซึ่งชาวบ้านหนองผือ จัดเตรียมตกแต่งไว้รอท่าเรียบร้อยแล้ว เมื่อท่านขึ้นแคร่หามเรียบร้อยก็พากันหามออกมาหน้าขบวน โดยมี ประชาชนที่ไปต้อนรับแห่ขบวนตามหลัง มีฆ้องตีแห่ไปด้วยอันเป็นประเพณี สนุกสนานตามประสาชาวบ้าน มาเรื่อย ๆ ตามทางเกวียนจนเข้ามาถึงหมู่บ้านหนองผือ ผ่านบ้านเลยลงทุ่งนามุ่งสู่วัดป่าบ้านหนองผืออัน เป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของการเดินทาง

       สำหรับภายในวัดป่าบ้านหนองผือ พระภิกษุสามเณรทุกรูปได้ลงมาเตรียมรอต้อนรับท่านที่ศาลา ทั้งหมดท่านพระอาจารย์มั่นก็อยู่บนศาลาเช่นกัน ในขณะนั้นพวกขบวนแห่ก็เคลื่อนใกล้เข้ามาทุกที มาถึงประตู ทางเข้าวัดเคลื่อนมาเรื่อยๆ ในที่สุดขบวนแห่ก็เคลื่อนมาถึงบริเวณศาลาที่เตรียมต้อนรับ และยังคิดที่จะหามแห่ เกวียนรอบศาลาสามรอบตามประเพณี ทันใดนั้นเสียงของท่านพระอาจารย์มั่นก็ดังขึ้น เล็ดลอดออกมาจาก ภายในศาลา เสียงของท่านดังมากชัดเจนเป็นสำเนียงภาษาท้องถิ่นอีสานขนานแท้ว่า

       "เอาบุญหยงฮึ..พ่อออก? พ่ออกเอาบุญหยัง..? บุญเดือนสามกะบ่แม่น เดือนหกกะบ่แม่น เอาบุญหยัง..ล่ะ...พ่อออก" ( หมายความว่า ทำบุญอะไรหรือโยม โยมทำบุญอะไร? ทำบุญเดือนสามก็ไม่ใช่ บุญเดือนหกก็ไม่ใช่ ) ท่าพูดเน้นและย้ำอยู่อย่างนั้น จนทำให้พวกขบวนหามแห่ พวกตีฆ้อง ตีกลอง แปลกใจ และตกใจกลัวเสียงของท่านมากและพากันหลบหน้าหลบตาหายลับไปกับฝูงชน ส่วนพวกที่กำลังหามพระราชาคณะ รูปนั้นก็กลัวท่านเหมือนกันแต่จะทำอย่างไรได้ จึงต้องจำใจหามท่านเข้าไปจนถึงระเบียงศาลา โดยหามเอาขอบ ของแคร่เข้าไปชิดกับระเบียงศาลาแล้วท่านเจ้าคุณฯ ก็ลุกขึ้นยืน ก้าวเท้าเหยียบขอบระเบียงศาลาเดินเข้าไปภายใน ยืนลดผ้าห่มจีวรเฉวียงบ่าให้เรียบร้อยสักครู่หนึ่ง จึงเดินเข้าไปยังอาสน์สงฆ์แล้วกราบนมัสการพระประธาน เสร็จแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่จัดไว้

       ฝ่ายญาติโยมที่แห่หามท่านมาเห็นว่าหมดธุระแล้ว จึงเก็บสัมภาระแคร่หามและเครื่องของต่างๆ ไปไว้ที่เดิมในขณะที่ผู้คนกำลังวุ่นวายกันอยู่นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็ยังพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คล้ายๆจะให้รู้ว่า งานขบวนหามขบวนแห่พระในครั้งนี้มีความผิด ท่านจึงพูดเสียงดังผิดปกติจากนั้นท่านก็ไม่ได้พูดอะไรอีก ท่านได้เข้าไปต้อนรับพูดจาปราศรัยกับท่านเจ้าคุณฯ ถึงตอนกลางคืนวันนั้นท่านก็ได้ประชุมพระเณร เข้าใจว่าคงจะได้ฟังเทศน์กัณฑ์หนักเหมือนกันญาติโยมบ้านหนองผือบางคนสมัยนั้นมักไปแอบฟังเทศน์ท่าน ที่ใต้ถุนศาลา ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเทศน์อบรมพระเณรในตอนกลางคืนอยู่เสมอๆ ประมาณ ๔-๕ คน

       คืนนี้ก็เป็นนักแอบฟังเหมือนเช่นเคย แต่คราวนี้ไปกันหลายคน เพราะมีเหตุให้สนใจหลายอย่าง มีท่านเจ้าคณะรูปนั้นมาแบบมีเกียรตินี้หนึ่ง และเพื่อมาฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขิ้นในตอนกลางวันนั้นหนึ่ง มาถึงแล้วก็เข้าไปแอบอยู่ที่ใต้ถุนศาลานั่นเอง ขณะนั้นท่านท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเทศน์พระเณรอยู่ ตอนแรก ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านคงจะยังไม่รู้ว่ามีโยมมาแอบฟังบังเอิญมีโยมคนหนึ่งวางกระป๋องยาสูบไว้ในที่มืด ฟังเพลิน มือคว้าไปสะดุดกระป๋องยาสูบเข้าทำให้เกิดเสียงดังขึ้น ท่านได้ยินจึงพูดว่า "พ่อออกมาเนอะ" ( หมายความว่า โยมก็มาฟังด้วย )

       การแอบฟังของญาติโยมในคืนนั้นก็ทำให้รู้เรื่องราวหลายอย่าง ส่วนมากเป็นเรื่องการประพฤติ ปฏิบัติพระวินัยของพระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งกิริยา มารยาทอย่างอื่นที่ยังไม่เหมาะสมกับสมณสารูป และอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการรวมคณะสงฆ์ทั้งสองให้เป็นคณะเดียว อาจเนื่องมาจากท่านเจ้าคณะรองภาคฯ รูปนั้น มาปรึกษาขอความเห็นจากท่านพระอาจารย์มั่นก็เป็นได้ และท่านก็ได้เทศน์อบรมพระเณรในคืนนั้น เป็นพิเศษจนดึก ล้วนแต่เป็นเรื่องราวที่เข้มข้นทั้งนั้น เทศน์ถึงความผิดของพระเณรแล้วก็โยงมาถึงความผิดของ ญาติโยม เพราะไม่มีใครสอนเขาให้เข้าใจพวกเขาเลยไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ที่ผิดก็เลยพากันผิดมาเรื่อยๆ จนบางเรื่องก็แก้ไขไม่ได้ติดเป็นประเพณีนิยมสืบกันมาก็มี แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ท่านได้เริ่มจุดที่จะสอนญาติโยมชาวบ้านหนองผือต่อไป

       ตอนเช้าท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมทั้งพระเณรทุกรูป เข้าไปบิณฑบาตภายในหมู่บ้านหนองผือ ตามปกติชาวบ้านจะรอใส่บาตรกันเป็นกลุ่มๆ ละ ๓๐-๔๐ คน มีทั้งหมด ๓ กลุ่ม พอพระเณรมาถึงละแวกบ้าน จะมีโยมประจำคนหนึ่ง ซึ่งมีบ้านอยู่ต้นทางก็จะตีเกราะเคาะไม้เป็นสัญญาณเตือนก่อน จากนั้นพระเณร ก็เดินเป็นแถวตามลำดับพรรษาเข้าไปยังหมู่บ้าน ฝ่ายญาติโยมที่จะใส่บาตรจะยืนเรียงแถวยาวไปตามถนน เป็นกลุ่มๆ ไป

       วันนี้ก็เช่นกัน พระเจ้าพระสงฆ์ก็ไปรับบิณฑบาตเหมือนเช่นเคย มีท่านพระอาจารย์มั่น เป็นองค์นำหน้า พอไปถึงกลุ่มแรกท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดขึ้นเสียงดังชัดเจน แต่เป็นประโยคใหม่ แปลกกว่าคำพูดเมื่อวานนี้ เป็นสำเนียงอีสานว่า " สาละแวก ปลาแดกใส่ตุ้ม ปลาเก่ากะบ่ได้ ปลาใหม่กะบ่ได้ เอาบุญหยังฮึ..พ่อออกแม่ออกเมื่อวานนี้ สาละแวก ปลาแดกใส่ตุ้ม.." ท่านพูดอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ภายหลังมาพวกชาวบ้านจึงเข้าใจความหมายและเรื่องราวต่างๆที่ท่านพูดนั้น จากพระเณรภายในวัด ซึ่งได้เล่าหรืออธิบายให้ญาติโยมที่ไปจังหันที่วัดในตอนเช้าฟัง เมื่อพวกโยมเหล่านั้นกลับมาบ้าน ก็ได้บอกเล่าเรื่องเหล่านั้นให้แก่ชาวบ้านคนอื่นๆทราบอีก และเล่าต่อๆมาจนถึงทุกวันนี้

       เรื่องนั้นมีความหมายว่า การที่ญาติโยมตั้งขบวนแห่พระอย่างนั้น เป็นการอันไม่สมควร ไม่ถูกต้อง ไม่เคารพสถานที่และครูบาอาจารย์ เป็นความผิดแผก แหวกแนวประเพณีของนักปฏิบัติ ผิดทั้งฝ่ายโยม ทั้งฝ่ายพระ พระผู้ถูกหามไม่ป่วยไม่ชรา อาพาธก็ผิดพระวินัย พระก็เป็นโทษเป็นอาบัติเป็นบาปเป็นกรรม ฝ่ายญาติโยมเป็นผู้ส่งเสริมความผิด ทำให้พระผิดพระวินัย ญาติโยมก็พลอยได้รับโทษไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การที่ญาติโยมคิดว่าเป็นการทำเอาบุญเอากุศลในครั้งนี้นั้นก็เลยไม่ได้อะไร บุญเก่าก็หดหาย บุญใหม่ก็ไม่ได้ เป็นการกระทำอันเปล่าประโยชน์

       ภายหลังชาวบ้านจึงพากันจำใส่ใจตลอดมา และไม่กล้าทำประเพณีอย่างนี้อีกเลย จึงได้พากันเล่าต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ถือว่าเป็นอุบายการสั่งสอนของท่านพระอาจารย์มั่นที่ชาญฉลาดยิ่ง จนชาวบ้านหนองผือได้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกบ้างจนมาถึงทุกวันนี้

หน้าต่อไป >

WWW.LUANGPUMUN.ORG