๕.
คุณยายขาวกั้งติดปัญหา
ในการเทศน์อบรมสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมักจะกล่าวปรารภ เปรียบเทียบให้ญาติโยมฟังอยู่เสมอว่า
" การเทศน์การสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนั้น เหมือนกับการ จับปลานอกสุ่ม "
( สุ่มคือ เครื่องมือจับปลาขนิดหนึ่ง ) การจับปลานอกสุ่มนั้นใครๆ ก็ย่อมรู้ว่ามันยาก
ขนาดไหน เพราะปลามันมีที่จะไปได้หลายทางโดยไม่มีขอบเขตจำกัด มันจึงไม่ยอมให้จับได้ง่าย
ๆ ไม่เหมือนกับปลาที่อยู่ในสุ่ม ซึ่งมีขอบเขตจำกัดบังคับมันอยู่ จึงจับได้ง่ายแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า
ปลานอกสุ่มจะจับไม่ได้เลย จับได้เหมือนกัน สำหรับผู้มีปัญญา ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีอุบายวิธี
อันชาญฉลาดมากในการสั่งสอนคน ถึงแม้ว่าท่านจะกล่าวปรารภในทำนองถ่อมตน
แต่องค์ท่าานก็ สามารถอบรมสั่งสอนโน้มน้าวจิตใจของญาติโยม ให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส
มาประพฤติปฏิบัติธรรมตามปฏิปทาของท่าน เป็นจำนวนมากมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้
ข้อที่น่าสังเกตในอุบายวิธีการสั่งสอนญาติโยมของท่านคือ
ท่าจะสอนเน้นเป็นรายบุคคลเฉพาะ ผู้สนใจประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่ท่านได้พิจารณาดูภายในแล้วเท่านั้น
ถ้าหากญาติโยมผู้ใดถูกท่าน พระอาจารย์มั่นพูดทักซักถามแล้ว จะต้องตั้งใจฟังให้ดี
ๆ นั่นแสดงว่าท่านจะบอกขุมทรัพย์ให้ จึงเป็นบุญลาภวาสนาของบุคคลนั้นโดยแท้
และบุคคลผู้นั้นจะถูกท่านซักถามแนะนำติดตามผล อยู่เสมอตามอุบายวิธีของท่านจนสมควรแก่บุญวาสนาของบุคคลนั้นแล้ว
ท่านจึงปล่อยให้ ดำเนินตามที่ท่านแนะสอน เพื่อเพิ่มบารมีของเขาจนแก่กล้าเป็นลำดับต่อไป
สมัยนั้นญาติโยมชาวบ้านหนองผือกำลังมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมาก
ทั้งหญิงทั้งชาย หลังจากได้พากันละเลิกนับถือผีแล้ว โดยพระอาจารย์หลุย
จนฺทสาโร ผู้แนะนำสั่งสอนเป็นองค์แรก ให้ละเลิกนับถือผีถือผิดเหล่านั้น
ให้หันหน้ามานับถือพระไตรสรณคมน์อย่างจริงจังมี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
เป็นสรณที่พึ่งแทน และท่านยังได้อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาพร้อมทั้ง
เดินจงกรมด้วย พากันปฏิบัติอย่างนั้นมาเรื่อย ๆ จนทำให้การปฏิบัติธรรมของญาติโยมชาวหนองผือสมัยนั้น
บางคนมีความก้าวหน้ามาก และได้สละบ้านเรือนออกบวชกันหลายคน โดยเฉพาะฝ่ายหญิงออกถือบวชเนกขัมมะ
สละเรือนเป็นแม่ขาว แม่ชี สมาทานรักษาศีลแปดจำนวนหลายคนด้วยกัน ที่สำคัญมีคุณยายขาวกั้ง
เทพิน คุณยายขาววัน พิมพ์บุตร คุณยายขาวสุภีร์ ทุมเทศ คุณยายขาวตัด จันทะวงษา
คุณยายขาวเงิน โพธิ์ศรี คุณยายขาวงา มะลิทอง คุณยายขาวกาสี โพธิ์ศรี
และคุณแม่ชีกดแก้ว จันทะวงษา ( ชาวบ้านหนองผือ บวชเป็นแม่ชีตั้งแต่สมัยพนะอาจารย์หลุย
จนฺทสาโร อยู่จำพรรษา จนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๔ ยังเป็นแม่ชีพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ
และได้เล่าเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ
) โดยมีพระอาจารย์ หลุย จนฺทสาโร เป็นผู้บวชให้
เมื่อบวชแล้วไปอยู่ตามสำนักที่ตั้งขึ้นชั่วคราวใกล้ๆ
กับสำนักสงฆ์ของครูบาอาจารย์เพื่อจะได้ ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเมื่อมีโอกาส
บางครั้งพวกเขาก็พากันออกไปภาวนาหาความสงบวิเวกตามป่าช้าบ้าง ตามป่าเชิงเขาและถ้ำซึ่งอยู่ใกล้
ๆ บริเวณนั้นบ้าง เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ให้แก่จิตใจ ไปกันเป็นกลุ่ม
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางด้านปฏิบัติสมาธิแล้ว จึงค่อยหาโอกาสเข้าไปกราบนมัสการเล่าถวายท่าน
ท่านก็จะแก้ไข ความขัดข้องนั้นให้ด้วยความเมตตากรุณา จนปัญหาเหล่านั้นลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ
และได้ปฏิบัติกัน อย่างนั้นมาเรื่อยๆ
จนกระทั่งท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางเข้าไปยังบ้านหนองผือ
และพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ และพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ยิ่งทำให้คุณยายขาวแม่ชีและญาติโยม
ซึ่งกำลังมีความสนใจปฏิบัติธรรม อยู่แล้วมีความสนใจมากยิ่งขึ้น จนบางคนปรากฎผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา
ในจำนวนนั้นมีคุณยายขาวคนหนึ่งผู้บวชชีเมื่อตอนแก่ ท่านมีอายุมากกว่าเพื่อนและเป็นหัวหน้าคณะแม่ชี
ชื่อคุณยายขาวกั้ง เทพิน อายุประมาณ ๗๐ กว่าปี การปฏิบัติมาธิมีความก้าวหน้ามากมีความรู้ความเห็น
ซึ่งเกิดจากการภาวนาหลายเรื่องหลายประการ ท่านมีนิสัยชอบเที่ยวรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ทางด้านจิตภาวนาอยู่เสมอ
เมื่อเกิดปัญหาขัดข้องทางด้านจิตภาวนา มีโอกาสก็เข้าไปกราบนมัสการเล่าปัญหาถวายท่านพระอาจารย์มั่นฟัง
ท่านก็จะแนะอุบายวิธีให้ไปประพฤติปฏิบัติตาม ในที่สุดปัญหาเหล่านั้นก็ตกไป
ตอนหลังคุณยายขาวกั้ง
ท่านแก่ชราภาพมากไปมาไม่สะดวก ลูกหลานจึงให้ไปพักที่บ้าน ขณะที่อยู่บ้านท่านก็ไม่ได้ลดละความพากเพียร
ตอนบ่ายเดินจงกรมบนบ้าน ค่ำลงเข้าห้องทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อ
ทำอย่างนี้ทุกวัน ตอนหนึ่งท่านนั่งภาวนาจิตไปเที่ยวเพลิน ชมเมืองสวรรค์
เกือบทุกคืน นั่งภาวนาคราวใดจิตใจจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ทุกครั้งท่านบอกว่า
มันสนุกสนานเพลิดเพลิน เห็นแต่สิ่งสดสวยงามทั้งนั้น ไปแล้วก็อยากไปอีก
เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน วันหนึ่งไปกราบนมัสการเล่าเรื่องนี้ ถวายท่านพระอาจารย์มั่น
ท่านจึงพูดปรามไม่ให้ไปเที่ยวเมืองสวรรค์บ่อยนัก แต่คุณยายขาวกั้งก็ยัง
ติดอกติดใจจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อีก
คืนหนึ่งคุณยายขาวกั้งนั่งสมาธิภาวนาจะน้อมจิตไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์
ตามที่เคยไปแต่เหมือนมี อะไรมาขวางกั้นจิตทำให้ไม่รู้ทิศทางที่จะไป คืนนั้นเลยไปไม่ได้
พอตอนเช้าฉันจังหันเสร็จคุณยายก็ไปที่วัด เข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น
เล่าเรื่องถวายท่านว่า " เมื่อคืนหลวงพ่อเอาหนามไปปิดทางข้าน้อย ข้าน้อยเลยไปมิได้
" ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า " ไปเที่ยวเฮ็ดยั้งดุแท้ ( บ่อยแท้ ) " คุณยายขาวกั้งจึงพูดตอบ
ว่า " ไปแล้วมันม่วนรื่นเริงใจ เห็นแต่สิ่งสวย ๆ งาม ๆ ทั้งนั้น " ท่านพระอาจารย์มั่นจึงบอกว่า
" เอาล่ะ บ่ต้อง ไปอีกนะทีนี้ " คุณยายขาวกั้งก็เข้าใจความหมาย และยอมรับที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูดเช่นนั้น
แต่ในใจของ คุณยายก็ยังคิดอยากจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อยู่อีก ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ไปเพราะกลัวคุณยายจะผิดทาง
และเสียเวลา ท่านต้องการอยากจะให้ดูหัวใจตัวเองมากกว่าจึงจะไม่ผิดทาง
ในที่สุดคุณยายขาวกั้งก็รับไป ปฏิบัติตาม ซึ่งตามปกติาคุณยายขาวกั้งจะเข้าไปกราบถามปัญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ
ๆ แต่ ละครั้งใช้เวลาไม่นานเพราะคุณยายขาวกั้งจะถามเฉพาะปัญหาที่แก้ไม่ตกจริง
ๆ เท่านั้น เมื่อท่านพระอาจารย์มั่น ตอบมาอย่างไร คุณยายใจแล้วจะกราบลาท่านกลับที่พักของตนเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ
ต่อมาคุณยายขาวกั้งก็ เกิดปัญหาทางจิตที่สำคัญขึ้นอีกคือ วันหนึ่งไปที่วัดเพื่อจะไปกราบถามปัญหากับท่านพระอาจารย์มั่นตามปกติ
วันนั้นพอถึงวัดเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงทักขึ้นว่า
" ฮ้วย...บ่แม่นไปเกิดกับหลานสาว แหล่วบ่น้อ " ( หมายความว่า ไม่ใช่จิตของยาย
เข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของหลานสาวแล้วหรือ ) เพราะช่วงนั้น คุณยายขาวกั้งมีหลานสาวคนหนึ่งแต่งงานใหม่กำลังตั้งครรภ์อ่อน
ๆ อยู่ ด้วยเหตุนี้คุณยายขาวกั้งจึงบอกต่อ ท่านพระอาจารย์มั่นว่า " ข้าน้อย
มิเยอะเกิด เพราะว่ามันทุกข์ แล้วล่ะเอ็ดแนวเลอ ข้าน้อยจังสิมิเกิดอีก
" ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า " อ้าว... เอาให้ดีเด้อ... ภาวนาให้ดีๆ เด้อ
" เหมือนกับคติพจน์ที่ท่านมักยกขึ้นมา กล่าวอยู่เสมอว่า " แก้ไห้ให้ตกเน้อ
แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด
เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ " ดังนี้
จากนั้นท่าน พระอาจารย์มั่น คงจะแนะอุบายวิธีแก้ให้คุณยายนำไปปฏิบัติ
คุณยายพอได้อุบายแล้ว ก็ถือโอกาสกราบลาท่าน กลับบ้านของตน เมื่อกลับถึงบ้านแล้วจัดแจงเตรียมตัวเตรียมใจ
ทำความพากเพียรตามอุบายที่ท่านพระ อาจารย์มั่นแนะนำให้ปฏิบัติ คุณยายขาวกั้งทำความพากเพียรนั่งสมาธิ
ภาวนาอยู่ประมาณสองสามวันจึงรู้ สาเหตุ แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายอวิชชา
ตัณหา อุปาทาน เหล่านั้นได้ จนคุณยายขาวกั้งอุทานออกมาให้ลูก หลานฟังว่า
" พวกสู..กูกำลังไปเกิดกับอีอุ่น จังวากูมิเยอะเกิดอิก กูกำลังม้างอยู่เดี๋ยวนี้
" ( หมายความว่า พวก ลูกๆ หลานๆ ทั้งหลายยายเห็นว่า ยายกำลังไปเกิดเป็นลูกของหลานสาวคือนางอุ่น
แต่ว่ายายไม่ต้องการจะ เกิดอีก จึงกำลังพยายามทำลายภพชาติอยู่ในขณะนี้
) หลังจากนั้นต่อมาไม่นานนาอุ่นหลานสาวของคุณยาย ขาวกั้งที่กำลังตั้งท้องอยู่
ยังไม่ถึงเดือนนั้นก็แท้งออกเสียโดยไม่รู้สาเหตุเลย หรือจะเป็นด้วยจิตเดิมของคุณยาย
ขาวกั้ง เข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของนางอุ่นหลานสาวจริง เมื่อคุณยายทำลายสาเหตุ
คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ในจิตของคุณยายได้แล้ว จึงทำให้ครรภ์นั้นแท้งเสียดังกล่าว
สำหรับคุณยายขาวกั้งหรือแม่ชีกั้ง
เรื่องการภาวนานั้นรู้สึกว่ามีความก้าวหน้ามากและเป็นไปเร็วกว่า บรรดาแม่ชีที่บวชรุ่นเดียวกัน
แม้จะถือบวชชีตอนแก่ของบั้นปลายชีวิตแล้วก็ตามการภาวนาของท่านก็เกิด
ความรู้ความเห็นวิจิตรพิสดารโลดโผนมาก แต่คงจะเป็นด้วยบุญวาสนาของคุณยายที่มีท่านพระอาจารย์มั่น
ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตภาวนา ได้เข้ามาพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือในช่วงนั้นพอดี
จึงเป็นโอกาสให้คุณยายขากั้งได้เข้าไปกราบเรียนถามปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการภาวนากับองค์ท่าน
จนสามารถ แก้ปัญหาเหล่านั้นลุล่วงไปด้วยดี และก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว
จนเป็นที่อบอุ่นใจของ คุณยายมาจนกระทั่งท่านหมดอายุขัย
ส่วนแม่ขาวแม่ชีนอกนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
ประพฤติปฏิบัติทำความพากเพียรตามรอยปฏิปทาของ ท่านพระอาจารย์มั่นมาเรื่อย
ๆ ตามลำดับ และได้ครองเพศถือบวช เป็นแม่ขาวแม่ชีสมาทานรักษาศีลแปด เจริญเมตตาภาวนาของท่านมาจนจิตใจหนักแน่น
มั่นคงในธรรมปฏิบัติไม่อาจย้อนไปถือเพศเป็นผู้ครองเรือน อีกจนตลอดสิ้นอายุขัยของท่านทุกคน
ส่วยฆราวาสญาติโยมผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ไม่อาจสละบ้านเรือนออก
ถือบวชได้ ก็ตั้งตนอยู่ในภูมิธรรมของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีทั้งหลายและมีจิตใจศรัทธามั่นคงอยู่ในบวรพระ
พุทธศาสนา ถือพระไตรสรณคมน์เป็นหลักในการบำเพ็ญตน ตลอดถึงคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาห้าประการ
คือ ประกอบด้วยศรัทธา ๑ มีศีลบริสุทธิ์ ๑ เชื่อกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ๑ ไม่แสวง บุญนอกเขตพุทธศาสนา ๑ และบำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา
๑ ดังนี้ ตลอดมาจนสิ้นชีวิตของเขานั้นแล
< หน้าก่อน หน้าต่อไป
>
-/a2432e-->