๔. การทำบุญที่ท่านพระอาจารย์มั่นสรรเสริญ
การสั่งสอนญาติโยมชาวบ้านหนองผือของท่านพระอาจารย์มั่นในสมัยนั้น
ส่วนมากท่านจะเน้นให้ญาติโยมสมาทานศีลห้าเป็นหลัก ส่วนศีลแปดหรือศีลอุโบสถ
ท่านไม่ค่อยจะเน้นหนักเท่าไหร่ท่านกล่าวว่า ศีลห้าเหมาะสมที่สุดสำหรับฆราวาสญาติโยมผู้ครองเรือน
ถ้างดเว้น ตลอดไปไม่ได้ก็ขอให้งดเว้นให้ได้ในวันพระวันศีล สำหรับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นท่านบอกว่า
" สัตว์ที่มีบุญคุณนั้นห้ามเด็ดขาด " นอกจากนั้นท่านกล่าวว่า
" จะงดเว้นไม่ได้ดอกหรือ เพียงวันสองวันเท่านั้น การกินในวันรักษาศีลจะกินอะไรก็คงได้
ไม่จำเป็นต้องเป็น สัตว์ที่ฆ่าเอง แค่นี้ทำไม่ได้หรือ ไม่ตายดอก... "
สำหรับการขอศีลนั้น
ท่านไม่นิยมนิยมให้ขอ และท่านก็ไม่เคยให้ศีล ( ตอนอยู่หนองผือ ) ท่านให้ใช้วิธีรัติงดเว้นเอาเลย
ไม่ต้อง ไปขอจากพระซ้ำ ๆ ซาก ๆ ผู้ใดมีเจตนาจะรักษาศีลจะเป็นศีลห้า ศีลแปดก็ตาม
ให้ตั้งอกตั้งใจเอาเลย แค่นั้นก็เป็นศีลได้แล้ว และการ ถวายทานในงานบุญต่าง
ๆ ท่านก็ไม่นิยมให้กล่าวคำถวายเช่นกัน ท่านอธิบายว่า " บุญนั้นผู้ถวายได้ถวายได้แล้วสำเร็จแล้วตั้งแต่ตั้งใจ
หรือเจตนาในครั้งแรก ตลอดจนนำมาถวายสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรอีก
เพียงแต่ตั้งเจตนาดีเป็นกุศลหวังผลคือความสุข การพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเท่านี้ก็พอแล้วนั่นมันเป็นพิธีการหรือกฏเกณฑ์อย่างหนึ่งของเขา
ไม่ต้องเอาอะไรทุกขั้นทุกตอนดอก "
ครั้งนั้นมีศรัทธาญาติโยมจากสกลนคร
เขาเป็นคนเชื้อสายจีน มีชื่อว่า เจ๊กไฮ แซ่อะไรนั้นเขาไม่ได้บอกไว้ เขามีความลื่อมใส
ศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมาก ขอเป็นเจ้าภาพกฐินในปีนั้น เมื่อถึงเวลากำหนดกรานกฐินแล้ว
จึงได้ตระเตรียมเดินทางมาพัก นอนค้างคืนที่บ้านหนองผือหนึ่งคืน โดยพักบ้านของทายกวัดคนหนึ่ง
เพื่อจะได้จัดเตรียมอาหารคาวหวานสำหรับไปจังหันตอนเช้าด้วย พอเช้าขึ้นพวกเขาจึงพากันนำเครื่องกฐินพร้อมกับเครื่องไทยทานอาหารต่างๆ
เหล่านั้นไปที่วัด เมื่อถึงวัดล้างเท้าที่หัวบันไดแล้วพากัน ขึ้นบนศาลาวางเครื่องของ
คุกเข่ากราบพระประธาน แล้วจึงรวบรวมสิ่งของ เครื่องผ้ากฐิน พร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่างๆ
วางไว้ที่หน้าพระประธานในศาลา
ส่วนเจ๊กไฮ ผู้เป็นหัวหน้านำผ้ากฐินมานั้น
เมื่อวางจัดผ้ากฐินพร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว นั่งสักครู่
เห็นว่ายังไม่มีอะไร จึงพากันกราบพระประธาน ( เจ๊กไฮ ก็กราบเหมือนกัน
ท่าทางเหมือนคนจีนทั่วไปเขากราบนั่นแหละ ) แล้วเขาก็ลง จากศาลาไปเดินเลาะเลียบชมวัดวาอารามเฉยอย่างสบายอารมณ์
จนกระทั่งพระเณรกลับจากบิณฑบาตรแล้ว ขึ้นบนศาลาเตรียมจัด แจงอาหารลงบาตรจนเสร็จสรรพเรียบร้อยทุกองค์
ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้เรียกเจ๊กไฮมาเพื่อจะได้อนุโมทนารับพรต่อไป
แต่เจ๊กไฮ ก็ไม่มารับพรด้วย มีคนถามเขาว่า " ทำไมไม่รับพรด้วย "
เขาบอกว่า " อั๊วได้บุญแล้ว ไม่ต้องรับพรก็ได้ การกล่าวคำถวายก็ไม่ต้องว่า
เพราะอั๊วได้บุญตั้งแต่อั๊วตั้งใจจะทำบุญทีแรกแล้ว ฉะนั้นอั๊วจึงไม่ต้องรับพรและคำกล่าวถวายใดๆ
เลย "
ภายหลังฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ท่านพระอาจารย์มั่นได้พลิกวิธีคำว่าผ้ากฐินมาเป็นผ้าบังสุกุลแทน ท่านจึพิจารณากองผ้ากฐิน
เป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วท่านได้เทศน์ฉลองยกย่องผ้าบังสุกุลของเจ๊กไฮเป็นการใหญ่เลย
ท่านกล่าวถึงผ้ากฐินนั้นได้รับอานิสงส์น้อยเพียง แค่ ๔ เดือนเท่านั้นไม่เหมือนกับผ้าบึงสุกุลซึ่งได้อานิสงส์ตลอดไป
คือ ผู้ใช้สามารถใช้ได้ตลอดไม่มีกำหนดเขตใช้จนขาดหรือใช้ไม่ได้จึง จะทำอย่างอื่นต่อไป
และสุดท้ายท่านกล่าวอีกว่า " ใครทำบุญก็ไม่เหมือนเจ๊กไฮทำบุญ
เจ๊กไฮทำบุญได้บุญมากที่สุด พรเขาก็ไม่ต้องรับ คำถวายก็ไม่ต้องว่าเขาได้บุญตั้งแต่เขาออกจากบ้านมา
บุญเขาเต็มอยู่แล้ว ไม่ตกหล่นสูญหายไปไหน บุญเป็นนามธรรมอยู่ที่ใจ อย่างนี้จึงเรียกว่า
ทำบุญได้บุญแท้.. "
ทุกคนที่ไปกฐินในครั้งนี้ต่างก็มีความปลาบปลื้มปีติในธรรมะ
ที่ท่านกล่าวออกมาซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลที่แปลกใหม่ ยังไม่เคย ได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่นเลย
โดยเฉพาะกับเจ๊กไฮผู้เป็นเจ้าภาพยิ่งมีความปลื้มปีติมากกว่าเพื่อน เพราะสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้วนั้นเป็นสิ่งที่
ถูกต้องเป็นที่พออกพอใจของครูบาอาจารย์ที่เขาเคารพเลื่อมใส จึงเป็นที่ตรึงตราใจของเขาไปจนตลอดสิ้นชีวิตและได้เป็นเรื่องเล่าขาน
กันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
อีกครั้งหนึ่งมีญาติโยมทางโคราช
จะเป็นเจ้าภาพนำองค์กฐินมาทอดที่วัดป่าบ้านหนองผือในปีถัดมา เจ้าภาพชื่อนายวัน
คมนามูล เป็นพ่อค้าชาวโคราช มีท่านพระอาจารย์มั่นเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการรับผ้ากฐินครั้งนั้น
เมื่อออกพรรษาแล้วทางเจ้าภาพกฐินก็กำหนดวัน เวลาจะนำกฐินมาทอด ฝ่ายพระที่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น
ในปีนั้น รูปที่มีหน้าที่อปโลกน์กฐิน ( การเลือก, การบอกเล่า ถ้าเราถวายของสิ่งเดียวแก่ภิกษุสงฆ์หลายรูป
ท่านจะต้องเลือกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ( เช่นถวายกฐิน ) พิธีการเลือกนั้นเรียกว่า
อปโลกน์ หรือ อปโลกนกรรม ) ต่างก็เตรียมท่องคำอปโลกน์กัน อย่างดิบดี
ตลอดทั้งพระรูปที่มีหน้าที่สวดญัตติทุติยกรรม ( กรรมมีญัตติเป็นที่สอง
หรือ กรรมมีวาจาครบ ๒ ทั้งญัตติ, กรรมอันทำด้วยญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนเดียว
เช่น การสมมติสีมา การสังคายนา และ การมอบให้ผ้ากฐิน เป็นต้น ) ก็เตรียมฝึกหัดอย่างเต็มที่เหมือนกัน
เพื่อกันความผิดพลาด เพราะคิดว่าการ สวดต่อหน้าท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่เช่นนี้
ถ้าเกิดผิดพลาด สวดตะกุกตะกักหรือไม่ถูกอักขระฐานกรณ์ กลัวท่านจะดุเอา
ต่อหน้าญาติโยม แล้วจะเป็นที่อับอายขายหน้ากัน อันนี้เป็นธรรมเนียมของพระในวัดที่จะรับกฐิน
จะต้องตักเตือนกันก่อนกว่าพิธีจริงจะมาถึง งานนี้คิดว่าคงจะเช่นกัน
เมื่อวันทอดกฐินมาถึงเจ้าภาพเขานำผ้ากฐินมาถวายในตอนเช้า
คณะกฐินเมื่อมาถึงวัดแล้วได้นำผ้ากฐินพร้อมทั้งเครื่องอันเป็น บริวารขึ้นไปวางบนศาลา
เพื่อรอเวลาพระบิณฑบาตรและฉันเสร็จก่อนจึงค่อยทอดถวาย ในขณะที่พระจะกลับจากบิณฑบาตร
จัดแจกอาหาร ลงบาตรเสร็จและให้พรแล้วลงมือฉันตามปกติ ญาติโยมเมื่อเห็นพระเณรทยอยถือบาตรลงจากศาลาหอฉัน
ไปล้างบาตรในที่สำหรับล้าง นั่นแสดงว่าพระเณรท่านฉันจังหันเสร็จแล้ว
พวกโยมคณะกฐินจึงพากันขึ้นมาที่ศาลามาถึงก็เห็นท่านพระอาจารย์มั่นนั่งบนอาสนะ
กำลังทำสรีรกิจ ส่วนตัวหลังฉันภัตตาหาร มีการล้างมือ บ้วนปาก ชำระฟัน
เป็นต้น พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็นว่าญาติโยมขึ้นไปบนศาลาแล้ว ท่านจึงพูดขึ้นว่า
" พ่อออก... สิเฮ็ดจั้งใด ของหมู่น ี้" ( หมายความว่า พวกโยมจะทำยังไงกับของเหล่านี้
) โยมผู้เป็นเจ้าภาพนำผ้ากฐินมาจึงพูดตอบท่านว่า " แล้วแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์จะพิจารณาขอรับ
" ท่านพระอาจารย์มั่นพูดขึ้นว่า " ถ้าจั้งซั่นให้พากันไปหาฟดหรือใบไม้มาปกปิดเสียก่อน
" พวกญาติโยมเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงพากันรีบลงไปหาฟดหรือใบไม้นำมาปกปิดกองผ้ากฐินเรียบร้อยแล้วจึงถอยห่างออกมาอยู่ข้างนอก
สักครู่ท่านพระอาจารย์มั่นจึงลุกไปพิจารณากองผ้าเหล่านั้นเป็นผ้าบังสุกุล
เสร็จแล้วท่านพระอาจารย์มั่นจึงกล่าวกับญาติโยมว่า " ของหมู่นั่นเสร็จเรียบร้อยแล้วเน้อพวกญาติโยมที่มานี้ก็ได้บุญได้กุศลแล้วทุกคนเน้อ
" และท่านก็พูดคุยกับญาติโยมที่มาทำบุญในวันนั้น อีกบ้างพอสมควร
หลังจากนั้นพวกญาติโยมก็ได้กราบแล้วลงจากศาลาไปรับประทานอาหารจากเศษข้าวก้นบาตรจนเสร็จเรียบร้อย
แล้วจึงพร้อมกันไปกราบลาท่านพระอาจารย์กลับบ้าน งานจึงเป็นอันเสร็จสิ้นลงเพียงเท่านี้
ส่วนพระรูปที่ฝึกซ้อมเตรียมท่องคำอปโลกน์กฐินและสวดญัตติทุติยกรรมวาจาอย่างดิบดีมาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
คิดว่าจะได้สวดแสดงในงานกฐินครั้งนี้ เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น
เรื่องต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นอันว่าจบลงเพียงแค่นั้นแล ภายหลังหมู่พระทั้งหลายจึงมาพูดกับหมู่เพื่อนว่า
" ท่านพระอาจารย์ใหญ่เราเด็ดขาดจริงๆ ไม่สะทกสะท้านสงสัยในเรื่องพิธีการ
เหล่านี้เลย " จึงทำให้หมู่พระลูกศิษย์สมัยนั้นคิดสงวนภูมิใจอยู่องค์เดียวมาจนถึงทุกวันนี้
< หน้าก่อน หน้าต่อไป
>
-/64d5a1-->