ปกิณกธรรม ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตเถร
  หน้า : [ 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | หน้าหลัก ]


๒. ท่านพระอาจารย์มั่น รับนิมนต์สวดมนต์ในบ้าน

       ครั้งนั้นชาวบ้านหนองผือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือเกิดโรคระบาดชนิดหนึ่ง อย่างรุนแรง มีคนตายเกือบทุกวันครั้งละ ๑ - ๒ คน แต่ละวันต้องเอาคนตายไปฝังไปเผาอยู่เสมอ จนทำให้ผู้คนประชาชนแตกตื่นกลัวกันมากไม่รู้ว่าจะทำประการใด บางคนก็คิดอยากอพยพรื้อบ้านเรือน หนีไปอยู่ท้องถิ่นอื่น แต่ก็ยังลังเลใจอยู่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะบ้านหนองผือนี้ยังเป็นหมู่บ้านี่อุดมสมบูรณ์อยู่มาก และเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานพอสมควร ถ้าจะปล่อยให้ว่างเปล่าอยู่ก็รู้สึกว้าเหว่มาก หมดที่พึ่งที่อาศัย ในตอนนี้ชาวหนองผือหดหู่ใจกันมาก ทั้งกลัวโรคระบาดชนิดนี้จะมาถึงตัวในวันใดคืนใดก็ไม่อาจรู้ได้ การรักษาหยูกยาในสมัยนั้นมีแต่รากไม้สมุนไพรต่างๆ เท่านั้น กินได้ก็ไม่ค่อยจะหายนอกจากนั้นบางคน ก็วกไปหาหมอผีทำพิธีไสยศาสตร์เสกเป่าต่างๆ ก็มี คือทำทุกวิถีทาง เพื่อจะให้หายเพราะความกลัวตาย

       เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ชาวบ้านก็มีความทุกข์ความลำบากใจ บางคนก็หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ตกตอนกลางคืนมาก็พากันเข้าห้องนอนกันเงียบ ไม่มีใครกล้าจะออกมาเพ่นพ่านตามถนนหนทางกันเลย ในที่สุดพวกคนวัดคนวา คนเฒ่าคนแก่ ผู้รู้หลักนักปราชญ์พิธีในทางพุทธศาสนาจึงพากันตกลงว่าต้อง ทำพิธีบุญชำระกลางหมู่บ้าน ปัดรังควาน ตามประเพณีโบราณนิยมของภาคอีสานสมัยนั้น แต่ก็มีปัญหาเล็กน้อย เนื่องด้วยชาวบ้านหนองผือมีความเคารพและเกรงกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก งานการอะไรที่คิดว่าไม่สมเหตุสมผล ก็ไม่อยากจะให้ถึงท่านแต่ถ้าไม่ถึงท่านก็ไม่ได้อีก เพราะว่างานพิธีบุญในครั้งนี้จำเป็นต้องนิมนต์พระสงฆ์ไป เจริญพระพุทธมนต์ ที่ปะรำพิธีกลางบ้านด้วย สำหรับพวกโยมเจ้าพิธีทั้งหลายต่างก็พะวักพะวนใจอยู่ว่า จะตัดสินใจกันอย่างไรสุดท้ายจึงตกลงให้โยมผู้ชายคนใดคนหนึ่งเข้าไปปรึกษาหารือกับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าหนองผือ ดูก่อน ในตอนนี้โยมบางคนกลัวท่านพระอาจารย์มาก ไม่กล้าไปขอตัวไม่เป็นผู้เข้าไปปรึกษาหารือกับท่านพระอาจารย์มั่น

       ในที่สุดจึงได้มอบหมายหน้าที่ให้โยมผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมีความกล้าหน่อย ซึ่งเขาเคยบวชพระมานานพอสมควรแต่ ลาสิกขามามีครอบครัวแล้ว เป็นผู้เข้าไปปรึกษาเรื่องนี้กับท่านพระอาจารย์มั่น เขาชื่ออาจารย์ บู่ นามสกุล ศูนย์จันทร์ ( ชาวบ้านหนองผือ ผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ ขณะนี้บวชเป็นพระพักอยู่สำนักสงฆ์ดานกอย ) ท่านเล่าว่า " ตอนแรกก็กลัวท่านเหมือนกัน แต่ดูแล้วคนอื่นเขาไม่กล้าเลย ตัดสินใจรับว่า ตายเป็นตายแต่ยังอุ่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ท่านเป็นพระระดับนี้ผิดถูกอย่างไรท่านคงจะบอกสอนเรา อาจเป็นว่าเราคิดมากไปเองก็ได ้" โยมอาจารย์บู่ ท่านจึงตกลงไปที่วัดหนองผือ เพื่อเข้าไปหาท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อไปถึงวัดขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่น กำลังนั่งอยู่ที่อาสนะหน้าห้องกุฏิท่าน หลวงพ่อบู่เล่าว่า ก่อนที่จะก้าวเดินขึ้นบันได กุฏิท่านนั้นรู้สึกว่าใจมันตีบตันไปหมด จึงอดใจก้าวเท้าจนกระทั่งเท้าเหยียบขั้นบันไดขั้นแรกและขั้นที่สอง พร้อมกับศรีษะ ตัวเองโผล่ขึ้นไป พอมองเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงหันหน้าขวับมาพร้อมกับกล่าวขึ้นก่อนว่า " ไปหยังพ่อออกจารย์ บู่ " ตอนนี้จึงทำให้โยมอาจารย์บู่โล่งอกโล่งใจ จิตใจที่ตีบตันก็หายไป มีความปลอดโปร่งขึ้นมาแทนที่ จึงเดินขึ้นบันไดแล้ว คลานเข้าไปกราบท่าน เสร็จแล้วเล่าเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ให้ท่านทราบ

       ท่านพระอาจารย์มั่นฟังเสร็จได้หลับตาลงนิดหนึ่ง เมื่อลืมตาขึ้นมาท่านพูดว่า " มันสิเป็นหยัง เมืองเวสาลี เกิดโรคระบาดฮ้อนฮน คนตายกันปานอึ่ง พระพุทธเจ้าให้ไปสวดพระพุทธมนต์คาถาบทเดียว ความฮ้อนฮนหมู่นั้นจึงหาย ไปหมดสิ้น..เอาทอนี่ละน้อ " ท่านพูดเสร็จแล้วก็ไม่พูดอะไรต่อไปอีก เนื้อความนั้นหมายความว่า " จะเป็นอะไรไป เมืองเวสาลี คราวนั้นเกิดโรคระบาดร้อนรน อนธการ มีผู้คนนอนตายกันเหมือนกับอึ่ง กับเขียด พระพุทธเจ้าให้ไปเจริญพระพุทธมนต์ เรื่องราวความเดือดร้อนต่างๆ เหล่านั้นก็หายไปจนหมดสิ้น " หลวงพ่อบู่เล่าว่า เมื่อได้ฟังท่านพระอาจารย์มั่นพูดอย่างนั้นแล้ว รู้สึกมีความดีใจมาก เกิดมีกำลังใจขึ้นมาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอโอกาสกราบลาท่านพระอาจารย์มั่นลงจากกุฏิท่านไป แล้วรีบกลับ บ้านไปป่าวร้องให้ชาวบ้านทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอนุญาตแล้ว ให้พวกเราพากันจัดการเตรียมสร้างปะรำพิธีให้เรียบร้อย ชาวบ้านต่างคนก็ต่างดีใจมาก พากันจัดแจงปลูกปะรำพิธีกลางบ้านเสร็จในวันนั้น นอกจากนั้นยังจัดหาอาสนะ ผ้าขาวกั้นแดด กระโถน กาน้ำ ตลอดทั้งเครื่องประกอบต่างๆ ในพิธีให้ครบถ้วนหมดทุกอย่าง เมื่อพร้อมแล้วได้วันเวลา จึงไปอาราธนานิมนต์ พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ งานนี้เห็นว่าทำกันสองวัน วันแรกท่านพระอาจารย์มั่นไม่ได้ขึ้นมาสวดด้วยท่านจัดให้พระสงฆ์ ภายในวัดขึ้นมาสวดก่อน ต่อเมื่อวันสุดท้ายท่านจึงขึ้นมา ตอนนี้หลวงพ่อบู่เล่าว่าท่านเดินขึ้นมาสวดมนต์ด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมรองเท้ารวมทั้งพระติดตามอีก ๓ - ๔ รูปก็เหมือนกัน ฝ่ายทางปะรำพิธีพวกญาติโยมก็เตรียมน้ำสำหรับล้างเท้าไว้รอท่า อยู่ก่อนแล้ว ท่านเดินทางมาถึงหน้าปะรำพิธี มีโยมคนหนึ่งเตรียมล้างเท้า อีกคนหนึ่งเป็นคนคอยเช็ด ทำไปจนเสร็จหมดทุกรูป เมื่อท่านขึ้นไปนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ทุกรูปแล้ว โยมก็เข้าไปประเคนน้ำ หมากพลู บุหรี่ สักครู่ท่านเริ่มทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพราะญาติโยมเขามานั่งรอท่าก่อนพระสงฆ์มาถึงแล้ว

       หลวงพ่อบู่เล่าว่า พิธีในวันนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านนำพระเจริญพระพุทธมนต์เพียงสองหรือสามรุปเท่านั้น ที่จำได้มี รตนสูตรและกรณียเมตตสูตร ไม่นาก็จบลง หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้เทศน์อบรมฉลองพวกญาติโยมที่มา ร่วมในงานนั้น อันเกี่ยวกับเรื่องของความตายและคนกลัวตายว่า "เป็นเพราะไม่มีที่พึ่งทางจิตใจหรือไม่รู้ที่พึ่งอันเกษมอันอุดม จึงกลัวการตายแต่ไม่กลัวการเกิด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคว้าโน้นคว้านี้เป็นที่พึ่ง บางคนกลัวตายแล้วไปไขว่คว้าเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่ง ที่เคารพนับถือด้วยความงมงาย มีการอ้อนวอน วิงวอนขอโดยวิธีบนบานศาลกล่าวจากเถื่อนถ้ำและภูเขา ต้นไม้ใหญ่ ศาลพระภูมิเจ้าที่เจ้าทางต่างๆ ที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นที่สถิตย์อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อันอาจดลบันดาลให้ชีวิตตนรอดพ้น จากอันตรายความตายและความทุกข์ได้ จึงหลงพากันเซ่นสรวงด้วยเครื่องสังเวยต่างๆ ตามที่ตนเองเข้าใจว่าเจ้าของสถานที่ เหล่านั้นจะพอใจหรือชอบใจ นอกจากนั้นยังมี การทรงเจ้าเข้าผี สะเดาะเคราะห์ สะเดาะนาม สืบชะตาราศี ตัดกรรมตัดเวร โดยวิธีต่างๆ เหล่านี้"

       ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ต่อไปอีกว่า "ที่พึ่งอันอุดมมั่นคงนั้นคือการให้ภาวนา น้อมรำลึกนึกเอาพระคุณอันวิเศษ ของพระพุทธเจ้า พร้อมพระธรรมและพระอริยสงฆ์ มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ จึงจะเป็นการถูกต้องสมกับที่พวก เราเป็นผู้รับ นับถือเอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่งประจำกายใจของตน และอีกอย่างให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักของอุบาสก อุบาสิกา มีการให้ทาน รักษาศีลและเจริญเมตตาภาวนา" สุดท้ายท่านได้ย้ำลงไปว่า " ต่อไปนี้ให้ญาติโยมทุกคนทั้งหญิง ทั้งชาย เฒ่าแก่ เด็กเล็กเด็กน้อยก็ตาม พากันสวดมนต์ทำวัตรทั้งเช้าทั้งเย็น ก่อนนอนตื่นนอนทุกวัน ให้ผู้ใหญ่ในครอบครัว พ่อแม่เป็นผู้พาทำ ทำที่บ้านใครบ้านมัน ทุกครัวเรือน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นบุญเป็นกุศลแก่พวกเรา ความเดือดร้อนต่างๆ เหล่านั้นมันก็จะหายไปเอง " ท่านให้โอวาทอบรมชาวบ้านหนองผือในครั้งนั้นเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้จบการให้โอวาทลง จากนั้นท่านพูดคุยกับญาติโยมนิดๆ หน่อยๆ แล้วสักครู่ ท่านจึงกลับวัด

       งานบุญในครั้งนี้ทำกัน ๒ วัน ที่น่าสังเกตคือ พระสงฆ์ที่ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านนั้นไม่ได้ไปฉันข้าวที่บ้านใน ตอนเช้า การถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์นั้นให้เอาไปรวมถวายที่วัดทั้งหมดจึงเป็นการสิ้นสุดลงของงานบุญในครั้งนี้ ขอแทรกเรื่องนี้สักเล็กน้อย เหตุที่ชาวบ้านหนองผือไม่นิยมนิมนต์พระไปฉันข้าวในงานบุญบ้านนั้น เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีงานบุญที่บ้านโยมคนหนึ่ง บ้านที่จัดงานบุญนั้นเป็นบ้านที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ปลูกสร้างแบบชนบทบ้านนอกโบราณ รู้สึกว่าจะคับแคบสักหน่อย ที่สำหรับพระนั่งก็คับแคบมาก แต่เจ้าภาพเรือนนี้คงไม่เคยจัดงานอย่างนี้หรือเพื่อจะมีหน้ามีตา อย่างใดก็ไม่อาจทราบได้ นิมนต์พระขึ้นไปตั้งมากมาย เมื่อพระขึ้นไปบนบ้านแล้วจึงทำให้ท่านยัดเยียดกันอยู่ ทำความ ลำบากใจให้แก่พระมาก กว่างานจะเสร็จจึงทำเอาพระหน้าตาเสียความรู้สึกไปหมด

        เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงสอนชาวบ้านหนองผือว่า " จะนิมนต์พระมาสวดมาฉันในบ้านก็ต้องดูสถานที่ก่อน ถ้าที่คับแคบให้นิมนต์พระมาแต่น้อย ถ้ากว้างขวางก็ให้ดูความเหมาะสม หากนิมนต์มาแล้วทำให้พระลำบาก ยิ่งพระแก่ๆ แล้ว ยิ่งลำบากมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ญาติโยมก็จะไม่ได้บุญ จะเป็นบาปเสียเปล่าๆ และอีกอย่างหนึ่งการเอาพระขึ้นมาฉันข้าวในงานบุญ บ้านก็เหมือนกันยิ่งลำบากมาก ไม่รู้ว่าอะไรวุ่นวี่วุ่นวายกันไปหมด พอฉันเสร็จแล้วพระบางรูปก็อาจปวดท้องไส้ขึ้นมาแล้วจะวิ่ง ไปที่ไหน ยิ่งพระเฒ่าพระแก่ๆ แล้วยิ่งทรมานมาก ปวดท้องขึ้นมารังแต่จะออก จะวิ่งไปอย่างไร ถึงแม้มีที่วิ่งไปก็คงดูไม่งาม สำหรับสมณเพศ ฉะนั้นจึงให้ญาติโยมพิจารณาดู " ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านหนองผือไม่เคยนิมนต์พระไปฉันข้าวในงานบุญบ้าน แต่สำหรับการนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมแสดงธรรมเทศนาหลังสวดมนต์เสร็จในงานบุญบ้านต่างๆ นั้นยังทำ กันอยู่ตามปกติ จึงเป็นระเบียบประเพณีปฏิบัติสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้

< หน้าก่อน  หน้าต่อไป >

WWW.LUANGPUMUN.ORG